รฟม.-BEM แจงการถอดที่นั่งรถเอ็มอาร์ที ช่วยผู้โดยสารไม่ต้องรอรถนาน รอสรุปผลธ.ค.

23 พฤศจิกายน 2560, 09:29น.


การชี้แจงเรื่องการถอดที่นั่งบางส่วนภายในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ช่วงหัวลำโพง-เตาปูน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการถอดเก้าอี้ผู้โดยสารออก เพื่อให้มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารภายในรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น  นายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษารักษาการรองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การถอดเก้าอี้โดยสารหรือเบาะที่นั่งเป็นมาตรการในระหว่างรอรถไฟฟ้าขบวนใหม่ที่จะมาเสริมอีกจำนวน 35 ขบวนปลายปี 2562 รฟม.และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM อยากให้ประชาชนเข้าใจว่าการถอดเบาะที่นั่ง เพื่อต้องการแก้ปัญหาผู้โดยสาร ให้ไม่ต้องรอรถไฟฟ้านาน  รฟม. ได้เห็นชอบและให้ BEM ทดลองถอดเบาะที่นั่งจำนวน1ขบวน เฉพาะช่วงกลางของตู้ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตู้ จำนวน 42 ที่นั่ง และจะยังเหลือที่นั่งในขบวนรถไฟฟ้าอีกจำนวน 84 ที่นั่ง โดยจะทดลองประมาณ 1-2 สัปดาห์ จนถึงสิ้นเดือนนี้ เพื่อประเมินผลพร้อมสอบถามความคิดเห็นของผู้โดยสารที่ใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อประกอบการพิจารณา และหาข้อสรุปในต้นเดือน ธ.ค. 2562 ว่าจะดำเนินการถอดเบาะที่นั่งต่อหรือนำที่นั่งมาติดตั้งตามเดิม หากผลประเมินพบว่าประชาชนเห็นด้วยกับมาตราการ ก็จะถอดที่นั่งเพิ่มมากกว่า 1 ขบวนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนถ่ายผู้โดยสารมากขึ้น 





นอกจากนี้ ยังพบว่ามีผู้โดยสารที่ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจำนวนมาก บริษัทจึงดำเนินการแก้ปัญหา ทั้งนโยบายขยับยืนชิดในเพื่อให้ขนถ่ายผู้โดยสารมากขึ้น นโยบายการลดกระเป๋าเป้สะพายวางลงบนพื้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ผู้โดยสาร การเพิ่มความถี่ของขบวนรถให้เร็วมากขึ้น รวมถึงการถอดเบาะที่นั่งก็ถือเป็นอีกมาตรการหนึ่ง





ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการระบุว่า การแก้ไขปัญหารูปแบบนี้ อาจกระทบต่อสัญญาสัปทาน รฟม.และ BEM นายรณชิต กล่าวว่า ไม่กระทบ เนื่องจากในสัญญาสัปทานไม่ได้ระบุว่าจะต้องมีจำนวนที่นั่งเท่าไร หรือจำนวนคนยืนเท่าไร เพียงกำหนดจำนวนผู้โดยสารว่า1ขบวนจะต้องรับผู้โดยสารอย่างต่ำ 900 คน





ด้านนายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ  BEM กล่าวว่า BEM มีเจตนาที่ดีที่ต้องการลดปัญหาผู้โดยสารรอรถไฟฟ้านานในชั่วโมงเร่งด่วน ไม่มีเจตนาอื่น โดยที่นั่ง ยังมีครบสำหรับพระภิกษุสงฆ์และสตรีมีครรภ์ เพื่ออำนวยความสะดวก ส่วนตู้รถไฟฟ้าที่มีการนำเบาะที่นั่งออก ได้เพิ่มราวจับให้ และขณะนี้บริษัทกำลังออกแบบป้ายสติ๊กเกอร์ประชาสัมพันธ์ตู้ที่มีที่นั่งและตู้ที่เป็นแบบยืนเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ 





สำหรับขบวนรถไฟฟ้าที่บริษัทสั่งซื้อจำนวน35ขบวน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการเดินรถสายสีน้ำเงิน ได้มีการวางแผนและดำเนินการสั่งซื้อนานแล้ว โดยปลายปี 2561 จะมา 1 ขบวน ขนส่งทางเครื่องบิน นำมาทดลองวิ่งในระบบก่อน 3-4 เดือนหลังจากนั้นในเดือนมี.ค.ปี 2562 จะเข้ามาอีก 3 ขบวน โดยขนส่งทางเรือ นำมาทดสอบระบบและจะใช้วิ่งในเส้นทางหัวลำโพง-บางซื่อในเดือน เม.ย.2562  ส่วน อีก 31ขบวนที่เหลือจะมาครบภายในปี 2562



ผู้สื่อข่าว :เกตุกนก ครองคุ้ม  

ข่าวทั้งหมด

X