สหรัฐเร่งไทยแก้ปมการค้า ก่อนนายกฯเยือนสหรัฐ/แรงงานประมงขาดมากกว่า7หมื่นคน

11 กรกฎาคม 2560, 08:13น.


ในเดือนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดเดินทางไปเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการ ซึ่งทางสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์) ขอให้ไทยรายงานความคืบหน้าอุปสรรคทางการค้า และการแก้ไขปัญหา เรื่องการควบคุมบริการสื่อสารและแพร่ภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต (โอทีที) โดยขอให้ไทยปรึกษาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนมีผลบังคับใช้ กับประเด็นสารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) ที่ไทยห้ามนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐ แต่ยูเอสทีอาร์ต้องการให้ไทยทำตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารชนิดนี้ได้ รวมถึงการเปิดตลาดเนื้อสัตว์ปีก โดยคณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปสหรัฐวันที่ 16-22 กรกฎาคม เพื่อหารือยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ โดยประเด็นที่สหรัฐต้องการเห็นความคืบหน้าคือการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหากมีความคืบหน้า ก็มีโอกาสที่จะปรับสถานะไทยให้ดีขึ้น



การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม และหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ของ สปป.ลาว เป็นเวลา 2 วันคือเมื่อวานกับวันนี้



นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่าข้อตกลงระหว่างไทย กับเมียนมา ถือว่าเป็นทิศทางดี เพราะทั้งสองฝ่ายต่างให้ความร่วมมือสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย โดยฝ่ายเมียนมาต้องเร่งพิสูจน์สัญชาติ หลังจากนั้นจึงจะเป็นหน้าที่ของไทยในการออกใบอนุญาต



ส่วนนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า แรงงานภาคการประมงขณะนี้ยังขาดอยู่ 74,000 คน ซึ่งอาจทำให้แรงงานผิดกฎหมายเข้าสู่แรงงานประมง เพราะการรอแรงงานใหม่ที่เข้ามาตามผลการเจรจารัฐต่อรัฐนั้น มีความเป็นไปได้น้อยที่จะมีแรงงานด้านประมง เพราะรัฐบาลเมียนไม่สนับสนุน โดยเห็นว่าเป็นงานที่มีความลำบาก ในขณะที่รัฐบาลไทยกำหนดให้ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงภายใน 15 วัน นับจากวันที่ 24 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไปถือว่า เป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ทุกอย่างรัฐบาลควรผ่อนผันให้มากกว่านี้



นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความคืบหน้าขั้นตอนในการตรวจสัญชาติเพื่อรับหนังสือรับรอง (ซีไอ) จากประเทศต้นทางว่า หากเป็นแรงงานเมียนมาและมีบัตรชมพู ซึ่งยังไม่หมดอายุให้ไปขอหนังสือรับรองการออกนอกพื้นที่เพื่อไปตรวจสัญชาติ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในเขตพื้นที่ทำงานของแรงงานก่อน และถือหนังสือเป็นหลักฐานระหว่างการเดินทางไปศูนย์ตรวจสัญชาติ ซึ่งมีอยู่ 6 ศูนย์ 5 จังหวัด ได้แก่ ที่ สมุทรสาคร สมุทรปราการ เชียงราย ตาก และระนอง



ส่วนคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและลาว ที่ถือบัตรชมพูที่ยังไม่หมดอายุ สามารถเดินทางกลับประเทศเพื่อไปทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารที่ประเทศของตนออกให้ได้ โดยต้องขอหนังสือรับรองการออกนอกพื้นที่ เพื่อไปตรวจสัญชาติที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในเขตพื้นที่ทำงานของแรงงานก่อน เมื่อกลับเข้ามาต้องขอวีซ่าและขออนุญาตทำงานในประเทศไทย ผู้ที่ไม่มีเอกสารแสดงตนหรือมีแต่หมดอายุ ให้นายจ้างรับคำขอจ้างคนต่างด้าวที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งกำหนดจัดตั้งขึ้นในทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม-7 สิงหาคมนี้



การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งกระทรวงการคลัง คาดการณ์ว่าในปีแรกของการจัดตั้งกองทุน จะมีเงินสะสมในส่วนของสมาชิกและนายจ้างประมาณ 60,000 ล้านบาท และมากเกินกว่า 100,000 ล้านบาท ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันมีแรงงานที่อยู่ในระบบราว 16 ล้านคน แต่มีลูกจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจเพียง 3 ล้านคน ซึ่งมีเงินกองทุนรวมกันราว 900,000 ล้านบาท ที่เหลือราว 12-13 ล้านคน ไม่มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยปัจจุบันร่างกฎหมาย กบช. ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตัวบทกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา



ในวันนี้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จัดสัมมนา "เงินบาทแข็งค่า...ธุรกิจจะต้านทานได้แค่ไหน" รวมถึงแนวทางรับมือของเอสเอ็มอีในการฝ่าวิกฤตบาทแข็ง โดยมีตัวแทนภาครัฐและเอกชนร่วมวงเสวนา



กรณีกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ตรวจสอบการทุจริตเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด หรือคดีเงินทอนวัด ซึ่งพบว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สร้างความเสียหายแก่รัฐ 60 ล้านบาท โดยได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด พร้อมขยายผลผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมนำกฎหมายฟอกเงินมาดำเนินคดีกับผู้ร่วมกระทำผิด และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมหารือกับ ผอ.พศ. และกรรมการมหาเถรสมาคมในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ ที่พุทธมณล จ.นครปฐม



เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) POLICE WATCH นำโดยนางสมศรี หาญอนันทสุข ผู้ประสานงานเครือข่ายฯและนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการ ครป. นัดยื่นหนังสือแนวทางการปฏิรูปตำรวจกับพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มูลนิธิคลังสมองวปอ.เพื่อสังคม ถนนวิภาวดีฯ



...



 

ข่าวทั้งหมด

X