*ข้อสรุป ตร.จร.-รฟม. ปิดจราจรพหลฯเที่ยงคืน 8ก.ย.รื้อสะพานข้ามแยกเกษตร12ก.ย.*

02 กันยายน 2558, 18:35น.


หลังการหารือร่วมกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ(รฟม.) และบริษัทอิตาเลียนไทยในการจัดการจราจรเพื่อดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 1 และกิจการร่วมค้า UN-SH-CH ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 2  โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เข้าร่วมประชุมหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) โดยมี พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ผู้รับเหมาฯ ดำเนินการติดตั้งแผงป้องกัน (Barrier) ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 8 กันยายน 2558  บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11 (สถานีกรมทหารราบที่ 11) บริเวณปากซอยพหลโยธิน 57 – 61 (สถานีอนุเสาวรีย์หลักสี่) บริเวณปากซอยพหลโยธิน 67 – 69 (สถานีสายหยุด) บริเวณหน้าตลาดยิ่งเจริญ (สถานีสะพานใหม่) บริเวณหน้าโรงเรียนนายเรืออากาศ - แยก คปอ. บริเวณแยก คปอ. – โค้งประตูกรุงเทพ และบริเวณหน้า สภ. คูคต



สำหรับสะพานข้ามแยกเกษตรจะทำการปิดสะพานเพื่อรื้อสะพานข้ามแยกเกษตร ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2558 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ใช้เวลา 60 วันในการรื้อสะพาน 


ทั้งนี้ การเบี่ยงจราจรดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็น โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว และ รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้ข้อสรุปให้มีการเริ่มปิดการจราจรบริเวณถนนพหลโยธินทั้ง 8 จุด ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 8 ก.ย.นี้ โดยจะเริ่มปิดสะพานข้ามแยกเกษตรเพื่อทำการรื้อถอนตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.นี้เป็นต้นไป



การดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลให้การจราจรบริเวณข้ามแยกเกษตรเหลือการจราจรเฉพาะพื้นที่ถนนแนวราบเพียง 4 ช่องจราจรคือไป 2 ทางและกลับ 2 ทาง โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการรื้อถอนสะพานข้ามแยกเกษตรประมาณ 2 เดือน ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างเสาตอหม้อรถไฟฟ้าที่จะใช้เวลาอีกประมาณ 30 เดือน ซึ่งระบบการจราจรบริเวณสี่แยกมหาวิทยาเกษตรศาสตร์จะมีการปรับสัญญาณไฟจราจรใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพการจราจร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนเพื่อระบายรถในช่วงขาออกให้ได้มากที่สุด และจะประชาสัมพันธ์เส้นทางเลี่ยงให้ประชาชนรับทราบ เช่น การให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางวิภาวดีรังสิต  ,ถนนประเสริฐมนูกิจ และถนนลาดพร้าว-วังหินส่วนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน



โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจของ รฟม. ซึ่งขณะนี้มีทางเลือก 2 แนวทาง คือ การสร้างสะพานข้ามแยกตามแนวรถไฟฟ้าเหนือสะพานเดิม และการรื้อสะพานออกเพื่อสร้างอุโมงค์ใต้สะพานเดิม ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี โดยเส้นทางจราจรตลอดแนวก่อสร้างทั้งหมดผู้รับเหมาและ รฟม.ได้จัดเตรียมป้ายบอกทางไว้ทั้งหมดแล้ว ส่วนทางด้าน บก.จร.ได้มีการเตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกไว้ตามจุดที่มีการปิดการจราจร 



 



 
ข่าวทั้งหมด

X