กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดอบรมบุคลากรและเครือข่ายทางวัฒนธรรม หลักสูตร การเพิ่มมูลค่าสินค้าและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ภายใต้โครงการฝึกอบรมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพื่อยกระดับ ทักษะและความรู้ของบุคลากรเครือข่ายทางวัฒนธรรมด้านพัฒนาสินค้าและบรรจุภัณฑ์ในยุคดิจิทัล และต่อยอดความรู้ของผู้ประกอบการให้มีศักยภาพทางการตลาดมากยิ่งขึ้นในอนาคต เมื่อวันที่ ๒๒-๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุม ชั้น ๓ อาคารวิสุทธิ์กษัตริย์ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในสังคมไทย ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบความคิดและพฤติกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างชาติ จนทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของสังคมไทยเริ่มเลือนรางจนอาจสูญหายไปได้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ จึงได้ดำเนินนโยบายเพื่อการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สืบทอดให้เป็นมรดกวัฒนธรรม ให้อนุชนรุ่นหลังได้นำมาศึกษาเรียนรู้สืบสานต่อไป การจัดโครงการฝึกอบรมครั้งนี้ สวธ.มุ่งมั่นที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้ร่วมกัน ระหว่างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม โดยนำองค์ความรู้ใหม่ๆด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของน้องๆเยาวชน มาสร้างสรรค์ต่อยอดแต่ยังคงเอกลักษณ์ของชุมชนไว้อย่างครบถ้วน เพื่อเพิ่มเสน่ห์คุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ตราสัญลักษณ์ที่ออกแบบโดยน้องๆเยาวชนช่วยสร้างภาพจำและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าและนักท่องเที่ยวได้ โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้เข้าร่วมกิจกรรม Wrokshop เทคนิคถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยสมาร์ทโฟน
ในการฝึกอบรมครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมเข้ารับการอบรมประกอบด้วย บุคลากรเครือข่าย ผู้ประกอบการร้านสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม จำนวน ๒๑ คน นักศึกษา ชั้นปีที่ ๓ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก จำนวน ๓๓ คน ในรูปแบบการบรรยาย การอภิปราย กิจกรรมกลุ่มภาคปฏิบัติ และการศึกษา ดูงานภาคสนาม ณ งานมหกรรมมรดกภูมิปัญญาภาคเหนือ ซึ่งจัดขึ้นภายในบริเวณ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และความสามารถมาเป็นวิทยากรแบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ อาทิ เรื่องบรรจุภัณฑ์และวิธีการสื่อสารแบรนด์ผ่านการเล่าเรื่อง (storytelling) มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดย ดร. วิสิทธิ์ โพธิวัฒน์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,อาจารย์ปณต ทองประเสริฐ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และอาจารย์ภาณุพงศ์ จันทร์ผลิน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และ การถ่ายทอดประสบการณ์การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่ความสำเร็จ” โดย คุณจิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์กล้วยตากจิราพร เป็นต้น
โดย นางสาววรัชยา พุทธาเนตร (น้องอาย) นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร หนึ่งในกลุ่มน้องๆนักศึกษาที่สมัครเข้ารับการฝึกอบรมครั้งนี้ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับว่า จากการเข้าร่วมการอบรม ๒ วันที่ผ่านมาได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มาก อาทิ การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การกำหนดราคา เทคนิควิธีการสื่อสารแบรนด์ผ่านการเล่าเรื่อง (storytelling) เป็นต้น เพราะมีความฝันว่าอนาคตอยากสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตนเอง โดยกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการเป็นตัวของตัวเองไม่ซ้ำแบบใคร นอกจากนี้ยังได้ทราบถึงปัญหาต่างๆจากผู้ประกอบการว่าการสร้างแบรนด์แต่ละแบรนด์ เช่น กล้วยตากจิราพร กว่าที่จะเป็นสินค้าที่ทุกคนรู้จักเราต้องเตรียมความพร้อมและต้องมีความรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงต่างๆไปให้ได้ และที่ดีใจที่สุดที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้คือ การได้ใช้ความรู้เรื่องการออกแบบมาใช้ออกแบบตราสัญลักษณ์ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มกระเป๋าผ้าอำเภอลับแล โดยนำเอาลายผ้าทอพื้นเมืองโบราณชื่อลายหงส์ใหญ่ของอำเภอลับแลมาออกแบบตราสัญลักษณ์ชื่อว่า“ลับแลภูษา” ซึ่งถูกใจผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง
ด้านคุณป้าสีนวล หมวกทอง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรน้ำใสใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้ารับการฝึกอบรม เล่าถึงความประทับใจที่ได้รับจากการเข้าร่วมการฝึกอบรมครั้งนี้ว่า ได้รับความรู้ใหม่ๆเพิ่มขึ้น เช่น แนวคิดในการสื่อสารผ่านการเล่าเรื่องเกี่ยวกับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในชุมชน ได้แก่ ที่มาของลวดลายผ้าทอพื้นเมือง วิถีชีวิตของคนในชุมชน ความเชื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำการตลาดผ่านการเล่าเรื่องได้เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ หรือเทคนิควิธีการถ่ายภาพสินค้าชุมชนแบบง่ายๆด้วยมือถือซึ่งใครๆก็สามารถถ่ายได้เมื่อรู้วิธีการในการจัดวางองค์ประกอบภาพ และแนวคิดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการผลิตออกจำหน่าย นอกจากความรู้ที่ได้รับแล้วยังได้รู้จักผู้ประกอบการรายใหม่ๆในจังหวัดต่างๆทางภาคเหนือ และยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์อีกด้วย ขอขอบคุณกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นอย่างมากที่จัดให้มีการฝึกอบรมโครงการดีๆแบบนี้ให้กับผู้ประกอบการ