เตือนภัย! “ฟองน้ำเก่า” สกปรกเท่า “อุจจาระ” แหล่งสะสมของแบคทีเรียและจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคร้าย

24 ธันวาคม 2563, 15:38น.


            รู้หรือไม่! ว่าฟองน้ำล้างจานที่ใช้กันอยู่ทุกวันนั้นเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะกับผู้ที่ใช้งานนานๆ เปลี่ยนที เก่าเก็บ ซึ่งพฤติกรรมของเราบางอย่างนี่แหละที่เป็นตัวการทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์ ด้วยความห่วงจาก ผศ.ดร.วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ออกมาเตือนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทำฟองน้ำสะสมเชื้อจุลินทรีย์ ผลร้ายของการใช้ฟองน้ำเก่า พร้อมแนะนำวิธีลดเชื้อจุลินทรีย์ ไม่ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย

           
 เตือนภัย! ฟองน้ำเก่าสกปรกเท่าอุจจาระ

            การใช้ฟองน้ำที่มีการจัดการไม่เหมาะสมมีโอกาสที่แบคทีเรียที่สะสมในฟองน้ำจะเท่ากับจำนวนแบคทีเรียที่อยู่ในอุจจาระของเรา โดยฟองน้ำล้างจานตามบ้านก็จะมีที่เป็นด้านฟองน้ำและด้านขัดสี ตัววัสดุที่มีรูพรุนที่จะสามารถกักเก็บเศษอาหาร ความชื้น หรือน้ำที่เราใช้ล้าง เมื่อความชื้นกับอาหารที่เหมาะสม จุลินทรีย์ก็จะเพิ่มจำนวน และส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ท้องร่วง เวียนศีรษะ ไข้สมองอักเสบ ซึ่งสมมุติกรณีที่กลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ เด็กทารก หรือผู้หญิงตั้งครรภ์ ฟองน้ำที่สะสมจุลินทรีย์นี้ก็จะสามารถก่อโรคที่เป็นอันตรายได้

            ยิ่งล้างเยอะยิ่งเลอะโรค


            การใช้ฟองน้ำล้างจานที่บ้านมากที่สุดอาจจะ 3 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าเป็นฟองน้ำที่ใช้ตามร้านอาหารจะยิ่งใช้ล้างกันเยอะ โอกาสที่จะหยิบนำมาทำความสะอาดถี่ๆ หรือตากให้แห้งมันจะมีโอกาสน้อยกว่า บางครั้งร้านอาหารจะไม่ได้ใช้น้ำผ่านซึ่งจะเป็นถังใส่น้ำยาล้างจาน ใส่น้ำไว้ เพราะฉะนั้นตัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ถ่ายทอดไปยังจาน ชาม ช้อน ส้อม ฯลฯ แล้ว ตัวน้ำเองจะเป็นตัวกักเก็บของเชื้อจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำขังสามารถติดภาชนะได้นาน 24 ชั่วโมงถึงแม้จานจะแห้งแล้วก็ตาม แสดงว่ามีโอกาสที่จะถ่ายทอดไปยังอาหารได้

            ล้างจาน VS ล้างแก้ว ควรแยกฟองน้ำ
?

            การล้างจานและล้างแก้วจริง ๆ แล้วควรเลือกใช้ฟองน้ำคนละอันไปเลย เพราะหากเราใช้ฟองน้ำล้างจานที่มีจุลินทรีย์ก่อโรคไปล้างแก้ว ตัวแก้วเองพอเทน้ำดื่มลงไปโอกาสที่จุลินทรีย์ซึ่งติดอยู่ข้างแก้วจะเข้าสู่ร่างกายไปทั้งหมดได้ อีกพฤติกรรมคือไม่เคยตากฟองน้ำให้แห้ง แน่นอนว่าบางคนหลังจากล้างเสร็จก็แช่ไว้ในภาชนะซึ่งมีน้ำขังอยู่ ไม่มีรูระบายน้ำ การที่น้ำขังก็จะทำให้ฟองน้ำชื้นตลอดเวลา ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ดีนั่นเอง

            ไมโครเวฟลดเชื้อจุลินทรีย์ได้หรือไม่?

            การใช้ไมโครเวฟถามว่าสามารถลดจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ได้ไม่ ขอตอบก่อนเลยว่า “ได้” โดยมีการทดสอบมาแล้วว่าการนำฟองน้ำเข้าไมโครเวฟที่เหมาะสมประมาณ 1 – 2 นาที มีโอกาสฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้มากถึง 90% แนะนำก่อนเอาฟองน้ำเข้าไมโครเวฟต้องทำให้เปียกโชก ไม่ควรมีเศษอาหารปนเปื้อน เพราะหากฟองน้ำมีเศษอาหารอยู่แล้วเอาเข้าไมโครเวฟพอแห้งเศษอาหารก็จะยึดเกาะแน่นขึ้น เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้

            นอกจากนี้ ยังมีวิธีลดเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ โดยการเขี่ยเศษอาหารออกจากจาน เมื่อใช้ฟองน้ำเสร็จแล้วอาจจะใช้น้ำยาล้างจานซักแล้วตากให้แห้ง ซึ่งหากใครรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงสะสมเชื้อแบคทีเรียให้กับฟองน้ำล้างจานก็ควรปรับเปลี่ยนและหมั่นล้างทำความสะอาด รวมถึงตากให้แห้งด้วย ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย



 



ข้อมูล : Mahidol Channel

X