กรมการแพทย์เตือน! “ปวดคอเรื้อรัง” ระวังโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท

17 ธันวาคม 2563, 15:36น.


เมื่อไม่กี่วันมานี้หลาย ๆ คนคงจะได้ยินข่าวศิลปินร็อกชื่อดัง อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “คุณตูน บอดี้สแลม” ป่วยด้วยโรคหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท ทว่าหลาย ๆ คนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินจนเกิดความสงสัยขึ้นมาว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุใด มีอาการของโรคบ่งบอกลักษณะไหน แล้วจะรักษาโรคอย่างไรได้บ้าง ด้วยความห่วงใยจากกรมการแพทย์จึงได้ออกมาอธิบายถึงความสงสัยต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และสามารถสังเกตอาการได้ด้วยตนเองก่อนเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง ลดความเสี่ยงอาการรุนแรง

            ทำความรู้จัก “โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท”


            “โรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท” นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความเจ็บปวดและทุกทรมานให้กับผู้ป่วย ซึ่งมักเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังบริเวณคอและเอวเนื่องจากเป็นกระดูกไขสันหลังส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด สาเหตุสำคัญ คือ ความเสื่อมของกระดูกไขสันหลังและหมอนรองกระดูก ตรวจพบในผู้สูงอายุเป็นหลัก แต่ในผู้ป่วยอายุน้อยที่มีการใช้งานของกระดูกสันหลังบริเวณดังกล่าวมากเกินไป หรือท่าทางในการใช้งานไม่ถูกต้อง เช่น

            - การก้มยกของหนัก

            - การออกกำลังกายแบบหักโหม

            - การสั่นหรือโยกศีรษะมากเกินไป

            - ความผิดปกติของหมอนรองกระดูกหรือกระดูกสันหลังแต่กำเนิด

            ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบว่ามีการกดที่บริเวณไขสันหลังร่วมด้วยได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงหรือรุนแรงถึงขั้นอัมพาตได้

            อาการที่พบเจอบ่อยในโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท


            อาการของโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทโดยเฉพาะจากโรคกระดูกคอเสื่อม จะมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ บางครั้งจะมีอาการปวดร้าวไปที่บริเวณปลายนิ้วข้างใดข้างหนึ่ง หรือเป็นทั้งสองข้างได้ และหากมีอาการกดเบียดมากขึ้นหรือรุนแรงอาจจะมีการกดประสาทไขสันหลังทำให้มีอาการปวดชาหรืออ่อนแรงของทั้งแขนและขาร่วมด้วย ใครที่ปวดคอเรื้อรังก็อย่านิ่งนอนใจไป

            แล้วจะรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาทอย่างไรได้บ้าง?

            เมื่อมีอาการที่เข้าข่ายหรือสงสัยให้รีบพบแพทย์เฉพาะทางทันที โดยการรักษาประสาทศัลยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และส่งตรวจเอกซเรย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและหาสาเหตุ เมื่อพบว่ามีการกดทับเส้นประสาทก็จะพิจารณาให้การรักษาไปตามสาเหตุและระดับความรุนแรง กรณีผู้ป่วยมีอาการไม่มากหรืออาการไม่รุนแรง อาจจะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาบรรเทาอาการ พักผ่อน ลดการเคลื่อนไหวและการทำกายภาพบำบัด แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ตรวจพบว่ามีการกัดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ก็จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการผ่าตัด


            ในปัจจุบันสถาบันประสาทวิทยามีเทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง และการผ่าตัดแบบเปิดแผลขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และสามารถฟื้นตัวกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันหรือทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ สามารถเข้ารับการตรวจรักษาที่สถาบันประสาทวิทยา โดยศูนย์ความเป็นเลิศโรคระบบประสาทไขสันหลัง ซึ่งเปิดให้บริการทุกวันและเวลาราชการ



 



ข้อมูล : กรมอนามัย

X