ลมหนาวและแสงแดดที่ร้อนจัดในช่วงอากาศหนาวนี้ นอกจากทำให้ผิวพรรณแห้งแตกเป็นขุยแล้ว ยังทำให้เกิดปัญหากับดวงตา อย่าง “ตาแห้ง” ได้ เพราะช่วงหน้าหนาวนั้นอากาศจะแห้งและเย็นทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงลูกตาตามธรรมชาติระเหยไปได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดได้กับทุกคนโดยอาการและความรุนแรงของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ว่าแต่อาการและความรุนแรงจะเป็นเช่นไรบ้าง เรื่องนี้ให้กรมการแพทย์โดย รพ.เมตตาฯ เป็นผู้ออกมาอธิบาย พร้อมแนะนำวิธีดูแลดวงตา เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
อาการตาแห้งและกลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังให้มากที่สุด
ปัญหาดวงตาแห้งเกิดจากน้ำหล่อเลี้ยงลูกตาระเหย ทำให้มีอาการระคายเคืองตาเหมือนมีฝุ่นทรายเข้า กลายเป็นตาแดง แสบตา โดยอาการอาจคล้ายโรคภูมิแพ้ขึ้นดวงตา กรณีตาแห้งรุนแรงที่สุดจะมีอาการอักเสบ เคืองตาอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว ตาเป็นเมือก มองไม่ชัด ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดปัญหาตาแห้งได้มากที่สุดมีด้วยกัน 5 กลุ่ม และควรระมัดระวังมากที่สุด คือ
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์
- กลุ่มบุคคลที่ทำงานอยู่กลางแจ้ง เจออากาศแห้งและลมแรง
- กลุ่มที่รับประทานยาบางอย่าง ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งง่ายกว่าปกติ เช่น ยาลดความดัน ยาแก้แพ้
- กลุ่มผู้ใช้สายตามาก เช่น ทำงานที่ต้องเพ่งนานๆ หรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ
วิธีดูแลดวงตาให้ห่างไกลจากปัญหา “ตาแห้ง”
สำหรับการดูแลดวงตาไม่ให้มีอาการตาแห้งนั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการออกแดด หรือโดนลม สวมแว่นกันแดดหรือหมวกทุกครั้งที่ออกแดด
2. หลีกเลี่ยงการใช้สายตา หรือการเพ่งนาน ๆ หากมีการใช้สายตา ควรพักสายตาเป็นระยะ ทุก 30 - 60 นาที
3. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายเพื่อทำให้ตาชุ่มฉ่ำ และเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำเวลาอยู่กลางแจ้ง
4. ใช้น้ำตาเทียมเพื่อบรรเทาอาการตาแห้งเพิ่มความชุ่มชื่นให้ดวงตา มีทั้งชนิดน้ำและเจล
5. รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น ผัก ผลไม้ ปลา รวมถึงอาหารที่มีกรดไขมันจำเป็น กลุ่มโอเมก้า-3
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
โดยส่วนใหญ่อาการตาแห้งไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อดวงตามากนัก แต่สร้างความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นมากกว่า ดังนั้น การศึกษาทำความรู้จักเกี่ยวกับอาการตาแห้งเพื่อที่จะได้ไม่เกิดความวิตกกังวลจนเกินไป รวมถึงรู้วิธีการรักษาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองจึงไม่อาจละเลยไปได้ ทั้งนี้ วิธีสังเกตเมื่อมีอาการตาแห้งไม่ยาก คือ รู้สึกไม่สบายตา ระคายเคือง แสบตา ให้สงสัยว่าอาจเข้าข่าย และหากมีปัญหากับดวงตา หรือดวงตามีอาการที่รุนแรงผิดปกติแนะนำให้พบจักษุแพทย์
ข้อมูล : กรมการแพทย์