“อาหารแช่แข็ง” กินเป็นประจำทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลเสียต่อสุขภาพจริงหรือไม่?

23 กันยายน 2563, 15:51น.


            “อาหารแช่แช็ง” เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับคนเร่งรีบ ต้องรีบออกไปเรียน ไปทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน แต่ถึงกระนั้นหลายคนมีความเชื่อเกี่ยวกับการกินอาหารแช่แข็งที่ว่าหากกินเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอได้ กลายเป็นความกังวลไปโดยปริยายโดยเฉพาะกลุ่มคนที่กินเป็นประจำ ซึ่งเรื่องนี้จะจริงหรือมั่วชัวร์หรือไม่ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายกันดีกว่า             อาหารแช่แข็งกินประจำทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ?

            ต้องบอกก่อนว่าอาหารสำเร็จรูปแบบแช่แข็งจะผ่านกระบวนการปรุงอาหารก่อนที่จะนำมาแช่เแข็ง โดยกระบวนการแช่แข็งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์ในอาหารที่เป็นสาเหตุของการเสียของอาหาร สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหารให้นานขึ้นได้

            หลายคนมีความเชื่อและกังวลว่าการกินอาหารแช่แข็งจะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ บอกตรงนี้เลยว่า “ไม่จริง” เพราะการแช่แข็งไม่ส่งผลต่อสารอาหารใดๆ ทั้งสิ้น โดยสารอาหารในอาหารต่างๆ จะยังคงอยู่ แต่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณค่าสารอาหารเดิมที่มีอยู่เล็กน้อย

            ควรเลือกอาหารแช่แข็งที่เป็นมิตรกับสุขภาพ


            อาหารแช่แข็งก็ยังคงให้คุณค่าทางโภชนาการที่ใกล้เคียงเดิม แต่สิ่งที่สำคัญคือการเลือกอาหารแช่แข็งที่เป็นมิตรกับสุขภาพ ควรมีผัก ข้าวกล้อง หรือธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีเป็นส่วนประกอบ ให้พลังงานไม่เกิน 500 กิโลแคลอรี่ มีเส้นใยอาหารอย่างน้อย 3-5 กรัม มีไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 4 กรัม และมีโซเดียมไม่เกิน 600-700 มิลลิกรัม



            ซึ่งโดยทั่วไปใน 1 วัน เราไม่ควรได้รับปริมาณโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม ดังนั้น อาหารแช่แข็งที่เราเลือกกินใน 1 มื้อ ควรมีปริมาณโซเดียมประมาณ 600 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ควรดูคุณค่าสารอาหารประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น ปริมาณไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุ โดยแต่ละช่วงวัยจะต้องการพลังงานที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกกินอาหารแช่แข็งก็คือการอ่านฉลากโภชนาการ

            หลักการเลือกซื้ออาหารแช่แข็งเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน



            - อ่านฉลากก่อนซื้อเพื่อดูส่วนประกอบ เลขสารบบอาหาร ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร และวัน เดือน ปีที่ผลิต และหมดอายุ



            - อ่านฉลากโภชนาการ โดยใน 1 มื้อ ควรมีปริมาณโซเดียมประมาณ 600 มิลลิกรัม นอกจากนี้ ควรดูปริมาณ ไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแร่ธาตุ



            - ควรเลือกซื้ออาหารแช่แข็งที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์สภาพดี ไม่มีรอยรั่วหรือฉีกขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เติบโต และเมื่อกลับถึงบ้านควรรีบนำอาหารแช่แข็งเข้าช่องแช่แข็งของตู้เย็นทันที หากทำการละลายควรกินให้หมดทันที



             - กินให้หลากหลาย โดยอาจเพิ่มอาหารสด เช่น สลัดผัก และผลไม้สดเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน



            เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุกๆ คนที่กินอารแช่แข็งเป็นประจำจะเข้าใจว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ส่งผลเสียอะไรต่อร่างกาย รวมถึงจะสามารถเลือกซื้ออย่างตอบโจทย์ โดยเฉพาะเรื่องสารอาหารที่ครบถ้วนและเป็นมิตรกับสุขภาพ



ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

X