!-- AdAsia Headcode -->

3 ปัจจัยแวดล้อมรบกวนการสร้างเม็ดสีบริเวณรากผม เกิดผมหงอกก่อนวัยอันควร

16 กันยายน 2563, 15:48น.


            เมื่อพูดถึง “ผมหงอก” หลาย ๆ คนมักจะนึกถึงกลุ่มคนสูงวัย ทั้งที่จริงเรื่องของผมหงอกไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น เพราะแม้แต่คนที่อายุยังน้อยก็สามารถมีผมหงอกได้เช่นกัน คงกลายเป็นความสงสัยเกิดขึ้นไม่น้อยแล้วซินะว่าผมหงอกในคนที่อายุน้อยนั้นมีสาเหตุเกิดจากอะไร? เรื่องนี้ให้ ผศ. นพ.พูลเกียรติ สุชนวณิช สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้คลายความสงสัยนี้กันดีกว่า

            สาเหตุของการเกิดผมหงอกก่อนวัย


            จริง ๆ แล้วการเกิดผมหงอกโดยทั่วไปมาจากพันธุกรรมเป็นตัวกำหนด อย่าง หากเป็นคนยุโรปแล้วมีผมหงอกก่อนอายุ 20 ปี ถือว่าบุคคลนี้มีผมหงอกก่อนวัย ต่างจากบ้านเราคนเอเชียที่มีผมหงอกก่อนอายุ 25 ปี จึงถือว่ามีผมหงอกก่อนวัย ซึ่งคนอายุน้อยส่วนใหญ่ที่มีผมหงอกก่อนวัยนั้นมาจากโรคเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน โรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่ไปรบกวนเซลล์สร้างเม็ดสีบริเวณรากผมทำให้แสดงอาการร่วมกับการมีผมหงอก หรือมีผมขาวเป็นวงได้

            นอกเหนือจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันตนเอง ก็ยังมีโรคอื่นๆ ได้แก่ โรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืดในช่วงที่มีอาการหอบหืดค่อนข้างรุนแรงจะมีผมหงอกมากกว่าปกติ กลับกันในช่วงที่อาการหอบหืดควบคุมได้ผมหงอกจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติ (มีผมสีดำกลับคืนมา) หรือโรคไทรอยด์ ในช่วงที่คุมอาการไม่ได้ก็จะมีผมหงอกเพิ่มขึ้น ฯลฯ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้เป็นผลทำให้เกิดผมหงอกได้มากกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องให้แพทย์ช่วยประเมินอีกครั้ง



           
ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดผมหงอกก่อนวัยอันควร



            ความเครียดมีมากกว่าปกติ หมายถึง การใช้ชีวิตหรือมีไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างเครียด อย่าง ทำงานหนัก เรียนหนัก พักผ่อนน้อย



            - การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ การกระทำดังกล่างเป็นการเพิ่มอนุมูลอิสระภายในร่างกายมากเกินไป จากการวิจัยพบว่ารากผมของผมหงอกจะพบบรรดาอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นมาก เชื่อว่าการการสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์เป็นการไปเพิ่มอนุมูลอิสระ รบกวนการสร้างเม็ดสีบริเวณรากผม



            - สารอาหาร ได้แก่ วิตามินบี 12 แร่ธาตุสังกะสี หรือซีลีเนียม ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เป็นกระบวนการสำคัญในเรื่องสร้างเม็ดสีบริเวณรูขุมขน หากมีสารอาหารเหล่านี้ต่ำ กระบวนการสร้างเม็ดสีจะมีความผิดปกติไป ทำให้เกิดผมหงอก



           และสำหรับใครที่ชอบถอนผมหงอกเพราะเข้าใจว่าเส้นผมใหม่ที่ขึ้นมาจะมีสีดำดังเดิม อันที่จริงเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสุดท้ายเส้นผมที่ขึ้นใหม่ก็เป็นสีขาวอยู่ดี และการถอนบ่อย ๆ บริเวณเดิม ๆ ซ้ำไปมาอาจทำให้รูขุมขนเกิดการอักเสบ รุนแรงถึงขั้นเกิดผังผืดหรือแผลเป็นทำให้รูขุมขนปิดถาวร เส้นผมไม่สามารถหงอกขึ้นมาใหม่ได้



 



ข้อมูล : รามาแชนแนล Rama Channel 



 

X