“สมุนไพรเพชรสังฆาต” รักษาโรคริดสีดวงทวารได้จริงหรือ?

09 กันยายน 2563, 15:32น.


            เป็นอีกโรคที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง อย่าง โรคริดสีดวงทวาร ที่นับว่าสร้างความทรมานไม่น้อย จะนั่ง จะขับถ่ายทีพาให้เป็นกังวล กลุ้มใจ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยที่ป่วยด้วยโรคนี้พยายามหาวิธีการรักษาเพื่อให้อาการป่วยหายไป แน่นอนว่าต้องพบกับข้อมูลสมุนไพรเพชรสังฆาตช่วยแก้ริดสีดวงได้ แต่ถึงกระนั้นก็อาจจะมีบางคนสงสัย อยากหาความจริงว่าที่แท้แล้วสมุนไพรที่ว่าช่วยได้จริงหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ออกมาอธิบาย รวมถึงแนะนำพฤติกรรมกรรมการใช้ชีวิตที่ควรรีบเปลี่ยนให้ไว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคทวีคูณ

            “โรคริดสีดวงทวาร
กับระดับความรุนแรง 4 ระดับ


            ต้องขออธิบายก่อนว่า “โรคริดสีดวงทวาร” (Hemorrhoids) คือ โรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักเกิดการโป่งพอง มีลักษณะเป็นหัวออกมาจากทวารได้ ซึ่งริดสีดวงทวารสามารถเกิดพร้อมกันได้หลายแห่ง โดยระดับความรุนแรงของริดสีดวงทวาร สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระดับ ได้แก่



            - ริดสีดวงมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นได้       



           ริดสีดวงเริ่มมีขนาดใหญ่และยื่นออกมาเมื่อมีการเบ่งหรือถ่ายอุจจาระ แต่สามารถหดกลับเข้าไปด้านในได้เอง                 



           - ริดสีดวงยื่นออกมาจากช่องทวารหนักเมื่อมีการเบ่งหรือขับถ่าย ไม่สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง ต้องใช้นิ้วมือดันเข้าไป



            ริดสีดวงยื่นออกมาจากทวารหนักอย่างถาวร ไม่สามารถดันกลับเข้าไปด้านในได้ โดยอาการที่พบ คือ เลือดออกขณะถ่ายอุจจาระ, คัน และปวดบริเวณทวารหนัก และมีก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณทวารหนัก

            



            แล้วแบบนี้แพทย์มีวิธีการรักษาภาวะริดสีดวงทวารอย่างไร?

            การรักษาภาวะริดสีดวงทวารส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ ผู้ป่วยใช้ยาเหน็บทวารรวมถึงครีมทาบริเวณทวาร เพื่อลดการอักเสบ และระคายเคือง หรือกินยาในกลุ่มแก้ปวดและยาทา เพื่อบรรเทาอาการปวด อาการคัน หรือกินยาที่มีส่วนผสมของ Diosmin และ Hesperidin เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ

            นอกจากนี้ตามบัญชียาหลักแห่งชาติได้กล่าวว่าสมุนไพรไทย “เพชรสังฆาต” สามารถบรรเทาอาการริดสีดวงได้ โดยสารสกัดเพชรสังฆาตมีฤทธิ์กระตุ้นหลอดเลือดดำ ให้มีความตึงตัวเพิ่มขึ้น สามารถลดอาการปวดและทำให้หลอดเลือดดำแข็งแรงขึ้นได้

            แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดควรเปลี่ยนพฤติกรรมกรรมการใช้ชีวิต อย่างการหันมากินอาหารที่มีกากใยสูง ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา ดื่มน้ำเปล่าให้เยอะๆ ไม่กลั้นหรือเบ่งอุจจาระ หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน รวมถึงหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่นั่งนาน และไม่ควรยกของหนัก
ทั้งนี้ หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยวิธีการอื่น เช่น การผ่าตัด เป็นต้น



ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

X