"ไวรัสตับอักเสบบี" ต้นเหตุมะเร็งตับ พบในเพศชายมากกว่าหญิง

26 สิงหาคม 2563, 14:30น.


            กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่าจากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 พบประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 80,665 คน อันดับ 1 ได้แก่ โรคมะเร็งตับ โดยมีผู้เสียชีวิตจำนวน 15,912 คน และนับเป็นโรคที่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดย “ไวรัสตับอักเสบบี” ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ ดังนั้น การดูแลตนเองในเรื่องการป้องกันการเกิดไวรัสตับอักเสบบี การตรวจเช็คสุขภาพ การได้รับวัคซีนป้องกันจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับได้

            ไวรัสตับอักเสบบีสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับ


            ไวรัสตับอักเสบบีสามารถทำให้เกิดการอักเสบของตับแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรังได้ ปัจจุบันเป็นสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โดยข้อมูลในประเทศไทยพบว่ามะเร็งตับมากกว่าครึ่งเกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบบี โดยไวรัสชนิดนี้มีลักษณะเฉพาะ คือจะส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ตับทำให้ไวรัสยังอยู่ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อตลอดชีวิต แม้จะตรวจไม่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเลือดก็ตาม

            
ยาที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบี

            สำหรับยาที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบี คือ ยาต้านไวรัสแบบรับประทาน โดยมักต้องทานยาเป็นระยะเวลานานหรือตลอดชีวิตเพื่อควบคุมโรค ซึ่งยาต้านไวรัสในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ตัวยาสามารถลดปริมาณไวรัส ยับยั้งตับอักเสบ ทำให้พังผืดในตับลดลง อาการตับแข็งดีขึ้น ตลอดจนลดโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเริ่มการรักษาไวรัสตับอักเสบบีขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล ได้แก่ ปริมาณไวรัสในเลือด หลักฐานการอักเสบ และพังผืดในตับ ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่อายุมากกว่า 40-50 ปี หรือมีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยการอัลตราซาวด์ทุก 6-12 เดือน

            
วิธีการป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสตับอักเสบบี

            เราสามารถป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสตับอักเสบบีได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเจาะ การสักผิวหนัง การใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น การสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ผู้ที่มีคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือมีความเสี่ยง ควรได้รับการตรวจเลือดหา HBsAg ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และตรวจ Anti-HBs เพื่อหาภูมิต้านทาน เนื่องจากผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ จึงควรได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังควรได้รับการรักษาและเข้าถึงระบบบริการสุขภาพตามมาตรฐาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับ



            เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุก ๆ คนจะเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบีมากขึ้น และดูแลตัวเองอย่างใส่ใจ ปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็งตับในอนาคต



 



ข้อมูล : โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์

X