!-- AdAsia Headcode -->

แพทย์ชี้แนะ!! สัญญาณบ่งบอกภาวะหมดไฟในการทำงาน “เครียด หดหู่ ไม่มีสมาธิ ด้อยค่า” พร้อมวิธีรับมือหากเราต้องเผชิญกับอาการเหล่านี้

14 สิงหาคม 2562, 16:24น.


            คุณเคยรู้สึกแบบนี้ระหว่างนั่งทำงานหรือไม่ “เครียด หดหู่ ไม่มีสมาธิ ด้อยค่า” และหากคุณกำลังรู้สึกเช่นนี้ คุณอาจจะกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout อยู่ก็เป็นได้!! แล้วภาวะหมดไฟในการทำงานที่ว่าคืออะไร เราจะมีวิธีรับมือกับอาการเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง วันนี้ ศ.ดร.นพ.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ ด้านส่งเสริมและฟื้นฟูโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะมาพูดถึงภาวะดังกล่าวให้รู้จักมากขึ้น



           ภาวะหมดไฟในการทำงานคืออะไร?

         ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่เกิดจากการตอบสนองต่อความเครียดที่สะสมมาอย่างยาวนานและมากเกินไปในการทำงาน โดย WHO (องค์การอนามัยโลก) ได้บัญญัติ ภาวะหมดไฟในการทำงานนี้ว่า Depressive anxiety syndrome ที่จะเกิดเฉพาะผู้ที่ทำงานเท่านั้น จะไม่นำความรู้สึกที่มาจากเรื่องส่วนตัว เช่น เหนื่อย อ่อนล้า ง่วง เบื่อคนรอบข้าง หรืออกหัก ฯลฯ มาตีโพยตีพายว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะนี้



            เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังอยู่ในภาวะหมดไฟในการทำงาน



           มีความรู้สึกอ่อนล้าทางอารมณ์ หมดเรี่ยวหมดแรง หดหู่ วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ เหมือนความเครียดไม่หมดไปจากหัวเราเสียที



           มีความรู้สึกว่าเราทำอะไรไม่สำเร็จ ไม่ได้เรื่อง ด้อยค่า ประสิทธิภาพการทำงานลดลง



            - ทิ้งงานไปดื้อๆ หรือไม่สนใจในงานที่ทำอยู่เลย



            มีความรู้สึกเป็นลบต่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกน้อง หรือในบางคนอาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ระบายความหงุดหงิดใส่คนรอบข้าง



           ความผิดปกติในความอยากอาหาร อาจจะเบื่ออาหาร หรืออยากกินมากขึ้น



            - ความผิดปกติในการนอน นอนไม่หลับ



            วิธีป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงาน



           - ให้เราลดความเครียด โดยการบริหารเวลา จัดการชีวิตส่วนตัว ชีวิตการทำงาน (Work-life balance)



           - พักผ่อนให้เพียงพอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ควรใช้ยานอนหลับ เพราะอาจนำไปสู่การติดยาได้



           - หาผู้ช่วย หรือคุยกับผู้ที่ช่วยเราได้ อาจจะเป็นเพื่อนนอกงาน เพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ หรือหัวหน้า



           - ขอลาพักร้อนช่วงสั้นๆ ไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม จิตอาสา แล้วกลับมาพร้อมกับตัวตนที่แข็งแกร่งขึ้น



           - ที่สำคัญ คือ ออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะมีสารความสุขหลั่งออกมาจากสมอง นอกจากภาวะหมดไฟในการทำงานของเราก็จะลดลงแล้ว ยังช่วยให้หลับง่ายสบายขึ้นด้วย



            จะเห็นได้ว่าเราไม่ควรละเลย หรือปล่อยให้ภาวะหมดไฟในการทำงานครอบงำตัวเรา รวมถึงคนรอบข้าง เพราะเจ้าสิ่งนี้อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ที่เป็น ชิ้นงานที่ทำ และองค์กรได้ ทั้งนี้ หากใครมีความต้องการเข้าปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ หรือฝ่ายเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หรือโทร. เข้ามาสอบถามทางโรงพยาบาลก่อนได้ที่ 02-256-4000



ข้อมูล/รูปภาพ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย



 

X