!-- AdAsia Headcode -->

รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลือง 'โมโนเรล' 2 สายแรกของประเทศไทย เปิดใช้ปี 2564

11 กรกฎาคม 2562, 17:02น.


            เป็นที่รู้กันดีสำหรับการจราจรภายในประเทศไทยที่ไม่ว่าจะเวลาไหนก็ติดขัดกันแทบทุกเส้นทาง ซึ่งก็ได้มีการเพิ่มทางเลือกที่ช่วยให้ถึงที่หมายสะดวก รวดเร็วขึ้น อย่าง รถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการหลายสาย หลายเส้นทาง และเพิ่มโครงการก่อสร้างสายใหม่ๆ อยู่เสมอ ในจำนวนนี้ได้มีการสร้างเป็น “รถไฟฟ้าแบบโมโนเรล” นั่นคือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงมีนบุรี-แคราย และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง แล้วรถไฟฟ้าแบบโมโนเรลคืออะไร วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกัน



            รถไฟฟ้าโมโนเรลคืออะไร?


               รถไฟฟ้าโมโนเรล เป็นรถไฟฟ้าที่วิ่งบนรางเฉกเช่นกับรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่รางของโมโนเรลจะเป็นรางเดี่ยว ซึ่งจริงๆ แล้วมีด้วยกัน 2 ประเภท คือ รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบแขวน และรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบวิ่งคร่อมบนรางเดี่ยว โดยทาง รฟม. ได้เลือกใช้ในประเภทที่ 2 มาก่อสร้าง ใช้ระบบไฟฟ้า DC 750 โวลต์ ผ่านตัวนำไฟฟ้าในราง วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม. การรองรับผู้โดยสารเฉลี่ยตู้ละ 200 คน โดยการก่อสร้างสายสีชมพูและสีเหลืองได้ดำเนินการระยะเวลาใกล้เคียงกัน ตั้งแต่ปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564





            แล้วข้อดี – ข้อเสียของรถไฟฟ้าโมโนเรลมีอะไรบ้าง?


              ข้อดีของรถไฟฟ้าโมโนเรล คือ



            - สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากพอสมควร ช่วยระบายผู้ใช้รถใช้ถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัดได้



            - ตัวรถและโครงสร้างรางเดี่ยวเป็นทางวิ่งที่มีขนาดเล็ก เบา ทำให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างน้อยกว่า และเสร็จได้ไวกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส (Heavy Rail)



            ราคาการก่อสร้างถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส (Heavy Rail) ถึง 50% เมื่อเทียบต่อกม. โดยระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือรางหนักราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท/กม. ในขณะที่ระบบโมโนเรลราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 600-700 ล้านบาท/กม.





            ข้อเสียของรถไฟฟ้าโมโนเรล คือ



            - ใช้ระยะเวลาในการวิ่งพอสมควร เนื่องจากวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 80 กม./ชม.



            - หากเกิดการสึกหรอของล้อยาง อาจต้องการเวลานานในการเปลี่ยนล้อ และอะไหล่ 



            - ความยืดหยุ่นในการเดินรถที่ต้องเตรียมการย้ายผู้โดยสารเมื่อรถเกิดเสียกลางอากาศ กลางราง



            - ใช้เวลาเปลี่ยนเส้นทางนาน โดยต้องทำการเลื่อนหมุนแท่งคอนกรีต (หัวประแจสับหลีก) ซึ่งเป็นคานรองรับน้ำหนักของรถให้เปลี่ยนทิศไปต่อกับเส้นทางใหม่



            - การออกแบบงานก่อสร้างโรงเก็บรถ ศูนย์ซ่อมบำรุง และศูนย์ควบคุมการเดินรถเป็นไปด้วยความยุ่งยากที่ต้องมารอการพิจารณาอีกทีก่อน ซึ่งแต่ละผู้ผลิต อย่าง ประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย ฯลฯ ก็มีคุณภาพ ข้อดี ข้อเสียของรถแตกต่างออกไป ต่างจากรถไฟธรรมดาทั่วๆ ไปที่สามารถใส่ระบบการเดินรถ ระบบความปลอดภัย ตามข้อกำหนดของลูกค้าได้เลย อาจทำให้เกิดความล่าช้าในงานก่อสร้าง



            การดำเนินงานก่อสร้างสายสีชมพู และสายสีเหลือง



            โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู : เส้นทางแคราย-มีนบุรี มีระยะทางทั้งสิ้น 34.5 กม. เป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตมีนบุรี และจังหวัดนนทบุรี โดยมีการเดินขบวนผ่านเส้นทางต่างๆ ดังนี้



            - จุดเริ่มต้นจากหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี (สามารถเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่–บางซื่อ) สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี)



            - วิ่งเข้า ถ.ติวานนท์ ผ่านถนนแจ้งวัฒนะ เมืองทองธานี ศูนย์ราชการ ทางแยกหลักสี่ (สามารถเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง สถานีหลักสี่)



            - ลอดใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) และผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ (มีสถานีวัดพระศรีมหาธาตุเป็นสถานีเชื่อมต่อ เพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารระหว่างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่)



            - แล้วพุ่งตรงสู่ถนนรามอินทรา จนถึงแยกมีนบุรี และสิ้นสุดที่แยกร่มเกล้า





            โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง : เส้นทางลาดพร้าว-สำโรง มีระยะทางทั้งสิ้น 30.4 กม. ประกอบได้ด้วย 23 สถานี โดยมีการเดินขบวนผ่านเส้นทางต่างๆ ดังนี้



            เริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าใต้ดินที่แยกรัชดา-ลาดพร้าว (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานครที่แยกฉลองรัช)



           วิ่งไปจนถึงทางแยกบางกะปิ ถนนศรีนครินทร์ (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ทางแยกลำสาลี)



            - แล้วจะวิ่งยกระดับข้ามทางแยกต่างระดับพระราม 9 (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ)



            ผ่านถนนเทพารักษ์ (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง) และสิ้นสุดที่ถนนปู่เจ้าสมิงพราย



 



รูปภาพ : การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย





 



 



 

X