!-- AdAsia Headcode -->

อย่าซื้อมาใช้!! เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมหนังหุ้มปลายองคชาตเด็กทารก อย. ชี้แจงเข้าข่ายผิดกฎหมาย

09 กรกฎาคม 2562, 13:52น.


            ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเทคนิคการเสริมความงาม หรือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ช่วยให้หลายๆ ท่านกระชับ อ่อนวัย ไร้ริ้วรอย ไม่ว่าจะเป็น ทรีตเม้นท์ เซรั่ม ครีมบำรุงผิว ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่หลายๆ ท่านไม่ว่าจะชายหรือหญิงสนใจเป็นอย่างมาก ยิ่งผลิตภัณฑ์ตัวไหนมีส่วนผสมแปลกๆ หรือมีสรรพคุณตรงกับความต้องการ ยิ่งเป็นที่สนใจ ล่าสุด ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่มีส่วนผสมของหนังหุ้มปลายองคชาตเด็กทารก โฆษณาสรรพคุณว่าช่วยชะลอวัย บำรุงผิวพรรณต่างๆ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกมาเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อโฆษณา และไม่อนุญาตให้นำเข้าเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของหนังหุ้มปลายองคชาตเด็กทารก



            หลังจากที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเทคนิคการเสริมความงามจากต่างประเทศที่เรียกว่า พีนีสเฟเชียล (Penis Facial) โดยเป็นการนำหนังหุ้มปลายองคชาตเด็กทารกมาผสมทำเป็นทรีตเม้นท์ ซึ่งมีการโฆษณาสรรพคุณว่าช่วยเยียวยาผิว บำรุงผิว ชะลอวัย ด้วยความที่ในต่างประเทศมีความเชื่อว่าปลายองคชาตเด็กทารกมีเซลล์ตัวหนึ่งสามารถซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างอีลาติน และคอลลาเจน เมื่อนำเซลล์ดังกล่าวมาผสมแล้วฉีดบนใบหน้าจะสามารถลดริ้วรอยได้จึงมีการนำมาใช้กัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้มีงานวิจัยที่ศึกษาในเรื่องนี้อย่างแน่ชัด





            ด้วยความห่วงใยจากคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการ ถึงการเผยแพร่ข้อมูลนี้ จึงได้ออกมาชี้แจงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของหนังหุ้มปลายองคชาตเด็กทารก โดยมีรายละเอียด ดังนี้



            - ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชื่อวัตถุห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ.2559 ที่กำหนดให้เซลล์ เนื้อเยื่อ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากมนุษย์ เป็นวัตถุห้ามใช้ เนื่องจากมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค เข้าข่ายเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย



            - ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า รับจ้างผลิตหรือขายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมเหล่านี้เด็ดขาด



            - การโฆษณาสรรพคุณว่าสามารถเยียวยา ชะลอวัย เป็นการอ้างสรรพคุณเกินกว่าการเป็นเครื่องสำอาง โดยหลังจากนี้หากทาง อย. ตรวจพบจะดำเนินการตามกฎหมาย



            อย่างไรก็ตาม ทางอย. ได้ให้คำแนะนำผู้บริโภคสำหรับการเลือกซื้อเครื่องสำอางต้องระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ก่อนซื้อต้องดูฉลากการรับรองจากทางอย. และสูตรส่วนผสม รวมถึงอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณ หรือส่วนผสมของวัตถุห้ามใช้ ดังกรณีของหนังหุ้มปลายองคชาตเด็กทารก ที่มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโรค เพราะถือเป็นเครื่องสำอางผิดกฎหมาย หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556



 



ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา



รูปภาพ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, kenh14, allure, chemicalsinourlife



 





 



 

X