กุมารแพทย์ แนะวิธีเลือกโรงเรียนดีมีคุณภาพสำหรับ'เด็กก่อนวัยเรียน' ช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาในอนาคต

13 พฤศจิกายน 2561, 16:16น.


     เลือกโรงเรียนให้ลูกอย่างไรดี? ปัญหานี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเกิดความกังวลใจ เพราะความมุ่งหวังให้ลูกได้เริ่มต้นเข้าโรงเรียนที่มีสังคมที่ดีและมีคุณภาพ แต่ว่าการเลือกโรงเรียนให้กับลูกในวัยก่อนเข้าเรียนนั้นยากยิ่งกว่า สำหรับประเทศไทยแล้วโรงเรียนต่างๆ ก็มีตัวเลือกมากมายให้คุณพ่อคุณแม่ได้ปวดหัวกันไม่ใช่น้อย แล้วแบบนี้จะมีหลักในการเลือกอย่างไร มาดูกันค่ะ




     พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การเลือกโรงเรียนอย่างเหมาะสมตามวัยของลูกนั้น ควรพิจารณาตามช่วงอายุ โดยแบ่งเด็กออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรก คือกลุ่มอายุก่อนเข้าวัยเรียนหรือวัยอนุบาล (Pre-School Age) และช่วงที่สองคือกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียน (School Age) ซึ่งหมายถึงเด็กที่เรียนชั้นป.1ขึ้นไป สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยอนุบาลนั้นจะเรียนรู้ได้ดีผ่านกิจกรรมการเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น นอกจากนี้งานวิจัยพบว่า หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์เข้าเรียนในโรงเรียนหรือสถาบันที่มีคุณภาพ (High Quality Day Care) จะทำให้เด็กมีทักษะทางด้านความคิด ภาษา และสังคมดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประสบการณ์ดังกล่าว


การพิจารณาว่าโรงเรียนหรือสถาบันใดมีคุณภาพนั้นมีหลักการอยู่ 3 ข้อ คือ 


     1.คุณภาพของครูผู้สอน : พิจารณาได้จากสัดส่วนของครูต่อเด็กและจำนวนเด็กในกลุ่ม เช่น เด็กอายุประมาณ 2-3 ขวบ ควรเป็นสัดส่วนคุณครู 1 คนต่อเด็ก 4-5 คน โดยขนาดกลุ่มไม่ควรเกิน 10 คน เด็กวัย 3-4 ขวบ ควรมีคุณครู 1 คนต่อเด็ก 6-7 คน และเด็กในกลุ่มไม่ควรเกิน 14 คน เป็นต้น นอกจากนี้ควรพิจารณาวุฒิการศึกษาของคุณครูร่วมด้วย หากคุณครูผู้สอนเรียนจบด้านเด็กปฐมวัยมาโดยตรงและมีทัศนคติเชิงบวกต่อเด็ก รวมทั้งมีการอัพเดทความรู้อย่างต่อเนื่องก็จะยิ่งเพิ่มคุณภาพการเรียนมากขึ้น อีกทั้งการไม่เปลี่ยนครูผู้สอนบ่อยๆ ก็จะทำให้คุณครูคุ้นเคยและเข้าใจเด็กแต่ละคนได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง 




     2.นโยบายของโรงเรียน : ในเรื่องความสะอาดและการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น มีการทำความสะอาดของเล่นอยู่เป็นประจำ  และสอนให้เด็กล้างมือก่อน/หลังการรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จทุกครั้ง มีการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของของเล่นที่นำมาให้เด็กเล่น หรือความปลอดภัยของบริเวณที่เด็กเล่นควรมีความอ่อนนุ่มเหมาะสมต่อการรองรับหากเกิดการพลัดตกหกล้มระหว่างที่เด็กเล่น นอกจากนี้โรงเรียนควรมีแผนรองรับหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น มีเจ้าหน้าที่สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและมีขั้นตอนในการนำส่งโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนให้กับคุณครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเด็กที่ป่วยไปสู่เด็กอื่นๆ




     3.กิจกรรมหรือหลักสูตรของโรงเรียน : ควรมีความเหมาะสมต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆตามช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย


ด้านที่หนึ่ง คือทักษะความสมบูรณ์ของร่างกาย ควรมีกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายเพื่อเสริมให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความยืดหยุ่นและฝึกการทรงตัว รวมทั้งมีการจัดการด้านโภชนาการที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็กควบคู่กันไปด้วย


ด้านที่สอง คือการเสริมสร้างพัฒนาการ ควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และทักษะด้านสังคม เช่น การวางแผน การทำตามกฎ การแบ่งปัน รวมทั้งการเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน นอกจากนี้ควรฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองและช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยเรียนและเป็นการพัฒนาตัวตนให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นควรมีความเป็นตัวของตัวเองและอยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยลง


ด้านที่สาม คือสมาธิและความจดจ่อ ควรส่งเสริมให้เด็กสามารถทำกิจกรรมให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไป โดยตัดสิ่งเร้ารอบข้างที่ไม่จำเป็นออกไปได้ ด้านสุดท้ายคือทักษะก่อนเข้าวัยเรียน (Pre-Academic Skills) 




     จากงานวิจัยพบว่าหากฝึกทักษะเหล่านี้ก่อนถึงวัยเรียนจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาในอนาคตได้ดีขึ้น เช่น การรู้จักตัวอักษร รู้จักเสียงของตัวอักษร (Phonics) และทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ การนับจำนวน เป็นต้น ทั้งนี้ หลักในการพิจารณาเลือกโรงเรียนเหล่านี้ยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อจัดการเรียนในรูปแบบ Home School ได้เช่นกัน


ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลกรุงเทพ
X