สนช. ตรวจศูนย์ควบคุมระบบ GPS ของกรมการขนส่งทางบก พร้อมเยี่ยมชมภาคเอกชน SCG

06 พฤศจิกายน 2561, 19:46น.


     คณะกรรมการบูรณาการ ประสานงาน กรณีกู้ชีพฉุกเฉิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กรมการขนส่งทางบก โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง กล่าวว่า การเข้าศึกษาดูงานในวันนี้ เป็นหนึ่งในการติดตามมาตรการการป้องกันและลดอุบัติเหตุจากแต่ละหน่วยงาน อันนำไปสู่การลดจำนวนผู้บาดเจ็บฉุกเฉินตามโรงพยาบาลต่างๆที่ปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมา อาทิ การบาดเจ็บและการสูญเสีย จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ซึ่งรัฐต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ



    ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ก่อตั้งเมื่อปี 2559 ปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะ และรถตู้โดยสาธารณะ ติดตั้งระบบ GPS หมดทุกคันแล้ว ส่วนรถแท็กซี่และรถบรรทุกที่จดทะเบียนใหม่ก็บังคับให้ต้องติดตั้งเช่นกัน เนื่องจากระบบ GPS สามารถนำมาใช้ในการกำกับดูแลและควบคุมพฤติกรรมการขับรถได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่นกรณีรถตู้โดยสาร ก่อนขับรถก็ต้องใช้ใบขับขี่ที่ถูกประเภทรูดกับเครื่อง GPS เพื่อแสดงตน จากนั้นระหว่างทางหากขับเร็วเกิน 80 กม./ชม. จะขึ้นเตือนที่หน้าจอมอนิเตอร์ที่มีเจ้าหน้าที่คอยดูอยู่ที่ศูนย์ฯทันที ถ้าเกินไม่นานก็อาจเป็นการเร่งแซงในบางจังหวะ แต่หากนานเกิน 2 นาที หรือเกินบ่อยครั้ง จะถือว่าใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และถูกบันทึกความผิดเก็บเป็นสถิติทันที ซึ่งก็จะมีขั้นตอนในการเรียกตัวมา ตักเตือนและลงโทษต่อไป





    ทั้งนี้ สถิติการร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชั่น DLT GPS ช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2561 มีจำนวน 14,946 เรื่อง โดยแต่ละเดือนมีแนวโน้มที่ลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าสถิติความผิดเกี่ยวกับการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นในอนาคตหากรถในภาคการขนส่งและภาคการโดยสารสาธารณะติดตั้ง GPS ครบทุกคัน ก็น่าจะลดปัจจัยความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ 





     ขณะเดียวกันวันนี้ทางคณะกรรมการยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่ศูนย์ Logistics Command Center (LCC) ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ SCG ที่สำนักงานใหญ่ เขตบางซื่อ โดยร่วมรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับ Sustainability Solution Business Overview ในฐานะที่ SCG มีระบบการบริหารจัดการการเดินรถที่ดี โดยพบว่ามีรถบรรทุกในสังกัดมากถึง 8,000 คัน ที่ต้องวิ่งระยะทางรวมกว่า 50 ล้าน กม./ปี แต่มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุเพียง 200 ครั้ง/ปี





     มาตรการที่น่าสนใจจาก SCG นอกเหนือจากการจัดการรถให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ปลอดภัยที่สุดแล้ว SCG ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานขับรถ ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัคร ที่ต้องผ่านการอบรมการขับรถอย่างปลอดภัยจาก SCG และต้องเข้ารับการอบรมใหม่ทุกปี มีมาตรฐานที่เหนือกว่าทั่วไป เช่น 

    - การห้ามจอดรถไหล่ทางโดยเด็ดขาดยกเว้นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

    - ห้ามขับรถนานติดต่อกันเกิน 4 ชั่วโมง และต้องพักตามเวลาที่กำหนด และใน 1 วัน ห้ามขับนานเกิน 10 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการหลับใน

    - ใช้ระบบ GPS ในการควบคุมการขับรถ เช่น ก่อนถึงแยกไฟแดงจะต้องลดความเร็วตามที่กำหนด

    - เก็บสถิติการเบรคของรถแต่ละคัน ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าถนนเส้นนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเส้นอื่น




    อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการขับรถของพนักงานจะถูกเก็บเป็นสถิติ ซึ่งหากขับรถดีก็จะมีรางวัลเป็นการตอบแทนด้วย ทั้งนี้การบริหารจัดการความปลอดภัยทางรถของ SCG ได้ขยายผลครอบคลุมไปถึงบริการอื่นๆสำหรับพนักงาน เช่น Drink Don't Drive (DDD) และบริการรถเช่าภายใน


 
X