รฟม. ประชุมร่วมคณะกรรมการจังหวัดภูเก็ต นำเสนอความก้าวหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต

01 พฤศจิกายน 2561, 09:05น.


     นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมผู้แทนคณะทำงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต เดินทางเข้าพบนายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และร่วมประชุมกับกรมการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจังหวัดภูเก็ต ณ ห้องคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อแนะนำโครงการ และนำเสนอความก้าวหน้าของการศึกษาตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556




     โดยโครงการระบบขนส่งมวลขนจังหวัดภูเก็ตนั้น รฟม. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ รองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัด ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT/Tram) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง มีระยะทาง 41.7 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น – เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร ซึ่ง รฟม. จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 ก่อน มีจำนวนสถานีทั้งหมด 21 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี แนวเส้นทางโครงการเริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต โดยแนวเส้นทางช่วงนี้เป็นโครงสร้างแบบยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 4031 จากนั้นจะลดระดับลงสู่ระดับดินที่ทางหลวงหมายเลข 4026    มุ่งหน้าเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 เพื่อเข้าสู่เมืองภูเก็ต โดยแนวเส้นทางช่วงผ่านอำเภอถลางจะลดระดับเป็นทางลอดใต้ดิน จากนั้นแนวเส้นทางจะกลับขึ้นสู่ระดับดิน ผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร สถานีขนส่ง เข้าสู่เทศบาลเมืองภูเก็ต ผ่านถนนภูเก็ต และข้ามสะพานเทพศรีสินธุ์ หรือสะพานข้ามคลองเกาะผี เพื่อเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก (ทางหลวงหมายเลข 4021) และไปสิ้นสุดที่บริเวณห้าแยกฉลอง




     รฟม. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ และทำหน้าที่  ที่ปรึกษาตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการศึกษาฯ เมื่อได้ผลสรุปของการศึกษาแล้ว รฟม. จะดำเนินการจัดการทดสอบความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) และจัดเตรียมเอกสารตามขั้นตอนการประกวดราคาทั้งหมดของโครงการ เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนงานระบบด้านต่างๆ เช่น งานโยธา ระบบรถไฟฟ้า การเดินรถ งานบำรุงรักษา และงานให้บริการ   โดยคาดว่าจะสามารถขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีราวเดือนเมษายน 2562 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2563 รวมทั้งสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 
X