สายของวันที่กรมอุตุฯ ประกาศฤดูหนาวเริ่มมาเยือนประเทศไทย เรากำลังยืนตากแดดอยู่ใต้ปุยเมฆฝนริมท่าน้ำ อบต.คลองน้อย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมตัว สวมเสื้อชูชีพสีส้มแปร๋น สะพายกล้องถ่ายรูป และค่อย ๆ หย่อนขาลงท้องเรือมาดอย่างระมัดระวัง เราได้รับคำแนะนำจากลุงอ๊อดนายท้ายเรือด้วยสีหน้าเรียบ ๆ เป็นการทักทายว่า
“ถ้าเผลอตกน้ำก็อย่ามัวตกใจ คลองไม่ลึกมาก ยืนได้”
“อื้มมม...ฟังแล้วอุ่นใจ” เราแอบคิดคนเดียว แล้วเผยยิ้มให้แกเล็กน้อย
พี่ไก่ เจ้าหน้าที่ ททท.สุราษฎร์ธานี อดีตนายหนังตะลุง เล่าให้ฟังระหว่างกำลังชื่นชมบรรยากาศสองฝั่งคลองว่า ที่นี่เป็นชนบทที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง ด้วยความที่มีคลองสาขาเชื่อมต่อกันจนนับไม่ถ้วน จึงถูกเรียกว่า คลองร้อยสาย
“คนนอกเข้ามาเองอาจหลงได้ ?” เพื่อนที่นั่งข้างหลังพูดทะเล้น
แต่เราว่าเป็นเวนิชตะวันออกอีกแห่งมากกว่า
พี่ไก่พูดต่อ “นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ล่องเรือชมวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งคลองแล้ว ยังจะได้ดูนก ตกปู ดูลิง และถ้าเวลามีเหลือเฟือที่นี่ยังมีกิจกรรมล่องเรือชมหิ่งห้อยยามค่ำคืน เป็นไฮไลท์เด็ดที่ห้ามพลาด”
“น่าสน”
เราเพลิดเพลินไปกับสายน้ำ ภาพต้นจากกำลังออกผลรูปทรงแปลกตา ทำให้เราหิวอยากเด็ดกินสักลูก แต่ดันเอื้อมเก็บไม่ถึง เราสงสัยว่าที่นี่มีต้นจากและผลมากมาย ชาวคลองร้อยสายได้ใช้ประโยชน์อะไรจากมันบ้าง
“ก็นำมาทำหลังคามุงจากส่งขาย ส่วนผลก็นำมาเชื่อมกิน”
น่าอิจฉาว่าไหม ? ไม่เหมือนคลองที่กรุงเทพฯ
ไม่นานนักเราก็มาถึงจุดแวะจอดเรือแห่งแรก ที่นี่เป็นโรงเรียนสำหรับฝึกขึ้นที่สูง ไม่มีเด็กเส้น เด็กฝาก จบมาแล้วมีงานทำ ที่นี่คือศูนย์ฝึกลิงคลองน้อย จากการกวาดสายตาดูคร่าว ๆ มีนักเรียนลิงอยู่หลายสิบตัว น่ารัก ซุกซน
พี่นิรันดร์ นาควาณิช ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการฝึกลิงเก็บมะพร้าวนานกว่า 25 ปี เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการฝึกว่า มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน เริ่มจากนำลิงเข้าแป้นเพื่อฝึกลิงให้อยู่นิ่ง และฝึกให้หมุนลูกมะพร้าว จากนั้นจึงฝึกให้ลิงห้อยตัวฝึกใช้มือและเท้า ต่อมาจะให้ไต่ขึ้นราวโดยจะแขวนมะพร้าวไว้บนต้น 7 ลูก เมื่อเสร็จขั้นตอนนี้ลิงถึงจะได้ฝึกขึ้นต้นจริง รวมใช้เวลา 40 วัน
“การฝึกลิงต้องใจเย็น และต้องมีใจรัก” พี่นิรันดร์ กล่าว
ชาวชุมชนริมฝั่งน้ำที่เชื่อมโยงกันเป็นคลองร้อยสาย ปัจจุบันยังใช้เรือในการสัญจรทางน้ำควบคู่ไปกับรถยนต์บนถนนคอนกรีต ซึ่งเป็นโอกาสดีที่เราได้ไปเยี่ยมชมอู่ต่อเรือที่ยังมีลมหายใจ ตั้งอยู่ริมน้ำสาขาหนึ่งของคลองนี้เอง
พี่ไก่ เจ้าหน้าที่ ททท.สุราษฎร์ธานี อดีตนายหนังตะลุงคนเดิม แนะนำให้เรารู้จักช่างกบ เจ้าของอู่ต่อเรือ แกยิ้มหวานต้อนรับ ทั้งที่มือยังระวิงอยู่กับงาน พร้อมลูกมืออีก 4 – 5 คน เรายกมือไหว้ พูดทักทาย
“ช่วยเล่าเกี่ยวกับผลงานชิ้นเอกนี้ได้ไหม เอกลักษณ์คือะไร ?”
“อื้มมม...เขาเรียกว่าเรือมาด” ช่างกบทำท่าครุ่นคิด “ทำจากไม้ตะเคียน หรือไม้พะยอม”
“ได้ยินว่า ที่นี่ยังนิยมใช้เรืออยู่ เขาใช้ทำอะไรบ้าง” เราถามต่อ
“คนที่นี่ยังใช้เรือเพื่อบรรทุกพืชผลการเกษตร และทำประมง ปี ๆ หนึ่งมีคนมาจ้างผมต่อเรือ 10 กว่าลำ”
“คิดแพงไหม ผมจะหามาใช้ที่กรุงเทพฯ”
“มีตั้งแต่หลักหมื่น ถึงหลักแสน แต่ผมส่งเรือให้คุณถึงกรุงเทพฯ ไม่ได้” (ฮา)
ถึงบรรทัดนี้เราอยากขอบคุณช่างกบ ที่ยังทำอาชีพต่อเรือ แบ่งปันความรู้ให้กับคนรอบข้าง และทำให้คลองสายนี้มีสีสัน
เส้นทางล่องเรือคลองร้อยสายยังมีสิ่งน่าสนใจให้เราแวะเทียบท่าอีกหลายแห่ง แล้วแต่เวลาของนักท่องเที่ยวว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน พี่ไก่ บอกว่า “ถ้ามีเวลาแค่ 1 ชั่วโมง ก็สามารถไปล่องเรือชมคลองบางใบไม้ ดูหลวงพ่อข้าวสุก ที่สร้างจากข้าวสุกก้นบาตร อายุกว่า 100 ปี เสร็จแล้วแวะดูอุโมงค์ต้นจาก เก็บภาพแปลกตาในมุมที่ไม่เคยเห็น”
“บังเอิญผมมีเวลาเหลือเฟือ”
“งั้นไปดูหัตถกรรมชุมชน และต่อด้วยชมหิ่งห้อยนับล้านยามค่ำคืน”
“หนูชักหลงรักที่นี่แล้วสิ” เพื่อนสาวคนหนึ่งพูด
“ใครว่าเที่ยวใต้มีแค่ทะเล”
#ป๋าแนทเที่ยวเตร่