จากกรณีที่มีผู้โพสต์เฟซบุ๊คขอความเป็นธรรม หลังถูกตัดสิทธิ์จากการสอบเข้าสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หรือ OTCC จัดสอบที่ศูนย์ทดสอบวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคณะกรรมการคุมสอบ เพียงแค่ 'เซ็นชื่อไม่เขียนตัวบรรจง'
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นว่า โดยทั่วไปทุกการสอบ จะมีระเบียบการสอบ ซึ่งต้องยึดเป็นกฎสำคัญ กรณีดังกล่าวตนยังไม่ได้เห็นระเบียบการสอบทั้งหมด แต่หากดูจากภาพที่โพสต์ในข่าวจะเห็นได้ว่า ในบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบฯ ตรงช่องที่ให้ลงลายมือชื่อ มีระบุไว้ชัดเจนว่า 'ลายมือชื่อผู้สมัครเขียนตัวบรรจง' ซึ่งผู้เข้าสอบได้เขียนเฉพาะชื่อไว้ ลักษณะนี้อาจเป็นดุลยพินิจของกรรมการผู้คุมสอบถือว่าเป็นลายเซ็น เพราะไม่ใช่ตัวบรรจง ไม่มีนามสกุล ถือว่าผิดระเบียบการสอบได้ แต่ไม่เกี่ยวกับความผิดทุกจริตในการสอบ
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง
(รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด)
เรื่องนี้เข้าข่ายว่าเป็นการตีความของกรรมการสอบ ถ้าผู้เข้าสอบอ่านระเบียบการสอบให้ชัดเจน และทำถูกต้องทุกข้อ ก็อาจจะไม่เกิดปัญหา โดยส่วนตัวตนเคยเป็นกรรมการคุมสอบมาหลายโครงการ ก็มักพบผู้เข้าสอบอาจไม่ทันได้ดูระเบียบการสอบให้ดี เช่น การห้ามทำเครื่องหมายใดๆลงในข้อสอบ ก็มักพบบางคนที่แก้คำผิด แล้วเขียนกำกับ กรณีแบบนี้กรรมการคุมสอบก็ใช้ดุลยพินิจให้ผิดได้ ขณะเดียวกันหากผู้เข้าสอบไม่เห็นด้วย ก็สามารถใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์หรือฟ้องศาลได้ ซึ่งก็ต้องรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ทุกสนามสอบผู้เข้าสอบควรอ่านระเบียบการสอบให้ละเอียด เพื่อสิทธิประโยชน์ของตนเอง การสอบเป็นเรื่องการแข่งขัน ชี้ชะตา ชี้อนาคต การแข่งขันสูง ต้องอ่านให้ชัดเจน ไม่ให้เสียสิทธิ์ หรือไม่ให้กรรมการสามารถตัดคะแนนเราได้ ถ้าไม่มั่นใจให้ถามเจ้าหน้าที่คุมสอบ ส่วนในแง่กฎหมาย คำว่า 'ลายเซ็น' กับ 'ตัวบรรจง' กับผลทางกฏหมาย โดยทั่วไปใช้แทนกันได้ แต่ถ้าเอกสารระบุไว้ชัดเจนแล้ว ก็ต้องทำตาม