วันที่ 11 ต.ค. 61 ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2553 ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกัน 3 วัน ทำให้เกิดน้ำท่วมตัวเมืองหาดใหญ่ โดยมีปริมาณน้ำไหลผ่านในคลองอู่ตะเภามากถึง 1,623.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เกินศักยภาพของคลองระบายน้ำที่มีอยู่ ทำให้มีน้ำไหลล้นจากคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำ ร.1 เข้าท่วมพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่และบริเวณใกล้เคียง ต้องใช้เวลาประมาณ 2 วัน จึงสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ สร้างความเสียหายมูลค่าประมาณ 10,490 ล้านบาท กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 และอาคารประกอบ ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น ประกอบกับในปี 2554 นายกฤษฏา บุญราช ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในขณะนั้น ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2)จังหวัดสงขลา ซึ่งกรมชลประทานได้อนุมัติในหลักการดำเนินการโครงการฯในปี 2555
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จังหวัดสงขลา เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของคลองระบายน้ำ ร.1 ด้วยการขุดขยายคลองพร้อมก่อสร้างอาคารประกอบของคลองภูมินาถดำริ (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อคลองระบายน้ำสายที่ 1 (ร.1) โครงการบรรเทาอุทกภัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่า “คลองภูมินาถดำริ” เมื่อปี พ.ศ. 2559) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ จากเดิม 465 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อมกันนี้ ยังได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำอีก 2 แห่ง คือ ประตูระบายน้ำหน้าควน ขนาด12.5x7.5 เมตร จำนวน 3 ช่องชนิดบานโค้ง และประตูระบายน้ำบางหยี ขนาด 6.0x6.0 เมตร จำนวน 8 ช่อง ชนิดบานตรง พร้อมกับก่อสร้างสถานีสูบน้ำบางหยี ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 15 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง อัตราการสูบน้ำ 90 ลบ.ม./วินาที โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 จะแล้วเสร็จในปี 2562 ปัจจุบันมีผลงานคืบหน้าไปแล้วร้อยละ 54
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการขุดขยายคลอง ร.1 จะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่ก็สามารถระบายน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ ได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันได้ขุดเปิดทำนบดินขวางทางน้ำออกหมดแล้ว เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาอุทกภัยน้ำท่วมในเขตอำเภอหาดใหญ่ และพื้นที่ใกล้เคียงของจังหวัดสงขลาได้เป็นอย่างมาก อีกทั้ง ยังสามารถบริหารจัดการประตูระบายน้ำในช่วงปลายฤดูฝน เพื่อเก็บกักน้ำไว้เป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 5 ล้าน ลบ.ม. ไว้ใช้เพื่อการอุปโภค – บริโภค และการเกษตรในพื้นที่ริมคลองได้อีกด้วย