เมื่อพูดถึงวัดอรุณราชวราราม หรือวัดแจ้ง หลายคนจะนึกถึงเจดีย์ทรงปรางค์องค์ใหญ่ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา มุมมองจากฝั่งตรงข้ามที่สวยงามจับใจไม่ว่าจะตอนกลางวัน หรือยามค่ำคืน ซึ่งประจักษ์แก่สายตาผู้คนแล้วทั่วโลก เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของนักเดินทางที่จะต้องแวะมาเยี่ยมชมให้ได้ เป็นที่เที่ยว ถ่ายรูป และศูนย์รวมทางจิตใจของผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนา แต่นอกจากนี้ที่วัดอรุณฯ ยังมีอะไรดี ๆ ให้เราได้ชื่นชมอีกมาก “ไม่ได้มีแต่พระปรางค์” เมื่อมาถึงแล้วก็ออกเดินสำรวจกันหน่อย เพื่อให้รู้จักวัดอรุณฯ ในมุมที่แตกต่าง รู้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ตามไปกันเลย
พี่ป๊อก ไพศาล อินจันทร์ ไกด์นำเที่ยวรูปหล่อแถมคารมดี คุยให้ฟังว่า วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่สร้างขึ้นสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมเรียกวัดมะกอกนอก และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแจ้งในสมัยกรุงธนบุรี ก่อนเปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็นวัดอรุณฯ ในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยในสมัยกรุงธนบุรีที่นี่ถือเป็นวัดฝ่ายวังที่ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ทำหน้าที่เหมือนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต มาก่อน
จุดแรกที่พามาชม และถือจุดที่สำคัญที่สุดของวัด คือ เจดีย์ทรงปรางค์ หรือที่นิยมเรียกว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ เดิมพระปรางค์มีความสูงแค่ 8 วา (16 เมตร) ก่อนสร้างครอบใหม่ทั้งองค์ในสมัยรัชกาลที่ 2 และไปเสร็จสมบูณ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2394 ใช้เวลารวมกว่า 9 ปี ถือเป็นเจดีย์ประจำพระมหานคร ที่สูงที่สุดในประเทศ ด้วยความสูง 33 ว่า 1 ศอก 1 คืบ 1 นิ้ว (81.85 เมตร) องค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยชิ้นเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ ส่วนยอดปรางค์ประธานประดับพระมหามงกุฏเหนือยอดนภศูล
จุดถัดมาพี่ป๊อก ไพศาล พาเรามาชม พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณา อสีตยานุบพิตร หล่อด้วยทองแดงปิดทอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 6 ศอก ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ที่พระพักตร์มีอุนาโลมเป็นงานประดับมุข ภายในพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 4 องค์ นับเป็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่สวยงามมาก ๆ
ถัดมาใกล้ ๆ กันจะพบมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาการเดินทางไปสักการะรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ สระบุรี ถือเป็นประเพณีการแสวงบุญที่สำคัญ และทำสืบต่อกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งทำได้ยาก เพราะสมัยก่อนไม่มีถนนหนทาง ต้องเดินเท้า ต่อเรือ รอนแรมในป่านานนับเดือน จึงมีการจำลองรอยพระพุทธบาท และพิธีการแสวงบุญขึ้น ทำกันที่ มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ที่นี่ล่ะ
จุดสำคัญต่อมา คือ พระอุโบสถ ภายในประดิษฐาน พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เชื่อกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 ศอกคืบ หรือ 1.75 เมตร ประดิษฐานเหนือแท่นไพทีบนฐานชุกชี เมื่อกราบสักการะองค์พระแล้วอย่าลืมชมจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือจิตรกรเอกสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บอกเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติอันวิจิตรตระการตา และรอบ ๆ ระเบียงคดนอกพระอุโบสถจะมีพระพุทธรูป และตุ๊กตาปูนปั้นจีนเรียงรายอยู่นับสิบองค์ ต้องแวะชมให้ได้
ไฮไลท์สุดท้ายต้องจุดนี้เลย ประตูซุ้มยอดมงกุฎ ตั้งอยู่กึ่งกลางระเบียงคดของพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นประตูจตุรมุข หลังคา 3 ชั้น ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้านข้างทั้งสองด้านของประตูซุ้มจะมีพญายักษ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ยักษ์วัดแจ้ง ยืนเฝ้าอยู่ 2 ตน เป็นยักษ์ไทย ตัวใหญ่ เขี้ยวแหลมโง้ง ทำหน้าที่เป็นนายทวารบาลคอยปกปักษ์รักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา
เป็นยังไงกันบ้างกับการเดินเที่ยววัดอรุณฯ ในครั้งนี้ เห็นไหมว่าที่นี่ไม่ได้มีแต่พระปรางค์ที่โดดเด่น แต่ยังมีงานพุทธศิลป์ที่ล้ำค่า งานจิตรกรรมฝาผนังระดับชั้นครู และงานสถาปัตยกรรมไทยอื่น ๆ ที่ประณีต งดงาม จนนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้การยอมรับ และหากคุณสนใจมาตะลุยเที่ยวแบบนี้ แต่มีคำถามเกี่ยวกับการเดินทาง ที่พัก ร้านอาหารขึ้นชื่อ หรือที่เที่ยวใกล้เคียงอื่น ๆ สามารถสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ โทร. 0 2276 2720-1 หรือทางเฟซบุ๊กเพจ TAT Bangkok