องคมนตรีติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่ สืบสานพระราชปณิธานรัชกาลที่ 9

24 กรกฎาคม 2568, 10:15น.


องคมนตรีติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดกระบี่

สืบสานพระราชปณิธานรัชกาลที่ 9 



      วันพุธที่ 23 กรกฎาคม 2568 เวลาประมาณ 10.00 น. พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ กปร. พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ รับฟังสรุปผลการดำเนินงานขยายผลโครงการฯ ตามที่องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการ ดังนี้ 1) ก่อสร้างถนน และขยายเขตไฟฟ้ารอบอ่างเก็บน้ำคลองหยาฯ ผิวทางลาดยางเพื่อช่วยเหลือราษฎร หมู่ที่ 1 และ 3 ตำบลปลายพระยา ให้มีถนนและไฟฟ้าใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งพืชผลทางการเกษตร ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 83% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2568 2) ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ความยาวระบบท่อส่งน้ำ 4.1 กิโลเมตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรบางส่วนในหมู่ที่ 3 และ 12 ตำบลปลายพระยา ประมาณ 200 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่บริเวณด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ ให้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 75% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2568 และ 3) ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ ความยาวรวม 3.123 กิโลเมตร เพื่อช่วยเหลือราษฎรบางส่วนในหมู่ที่ 3 และ 12 ตำบลปลายพระยา ประมาณ 210 ครัวเรือน ที่อาศัยอยู่บริเวณด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ซึ่งขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ  



      โอกาสนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้โครงการฯ เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ราษฎร จากนั้น พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ และตรวจเยี่ยมสภาพพื้นที่ พร้อมทั้งปล่อยพันธุ์ปลา จำนวน 100,000 ตัว ลงในอ่างเก็บน้ำฯ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนสูงแก่ราษฎรในพื้นที่ 

      สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริสรุปความว่า “...ให้ส่งเสริมราษฎรในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ทำนาข้าวแบบครบวงจร โดยให้กรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำให้ราษฎรในพื้นที่...” สำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้ร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยาฯ ในปี 2533 และแล้วเสร็จในปี 2535 มีลักษณะเป็นเขื่อนดินประเภท ZONE TYPE สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร ยาว 275 เมตร และสูง 17 เมตรพร้อมระบบท่อส่งน้ำ จำนวน 6 สาย ความยาวรวม 11,180 เมตร และระบบคลองส่งน้ำ จำนวน 2 สาย ความยาวรวม 7,310 เมตร ปริมาณน้ำเก็บกัก 3.2 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎร หมู่ที่ 1, 2, 3 (บางส่วน) และ 8 ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 800 ครัวเรือน ราษฎร 2,400 คน พื้นที่การเกษตรและนาข้าว (โรงสีข้าวพระราชทาน) รวม 3,932 ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ส่งผลให้ราษฎรมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ราษฎรได้ร่วมกันจัดตั้ง “กลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยา” และ “กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบ้านปากน้ำ” (โครงการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) มีสมาชิกรวม 238 คน เพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  



      ต่อมา องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการปลูกข้าวเพื่อบริโภคครบวงจรในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ รับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ เกี่ยวกับกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นนาข้าวในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านปากน้ำ หมู่ที่ 1 ตำบลปลายพระยา จากนั้น พบปะเยี่ยมเยียนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบ้านปากน้ำ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการฯ และร่วมโยนกล้าข้าวลงในแปลงนา 

      สื
บเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2530 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริสรุปความว่า “...ให้ส่งเสริมการปลูกข้าวในสหกรณ์นิคมอ่าวลึก เพื่อให้ราษฎรในนิคมมีข้าวบริโภคเพียงพอ เมื่อมีการปลูกข้าวและมีผลผลิตมากพอจะพระราชทานโรงสีข้าวขนาดเล็กให้ 1 โรง เพื่อใช้สีข้าวของราษฎรในท้องถิ่น...” และ “...ให้ส่งเสริมราษฎรในเขตนิคมสหกรณ์อ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ทำนาข้าวแบบครบวงจร โดยให้กรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำให้ราษฎรในพื้นที่...” สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริในการดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมโดยนำร่องในบริเวณพื้นที่ของ นายธเนศ บุษย์เพชร ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันอายุ 30 ปี จำนวน 1 ไร่ 3 งาน ปัจจุบันสามารถผลิตข้าวได้ 420 กิโลกรัมต่อปี พันธุ์ข้าวที่ปลูกคือ ปทุมธานี 1 และ กข.109 ซึ่งเพียงพอต่อบริโภคในครัวเรือน และนำไปแจกจ่ายแบ่งปันให้แก่ผู้สูงอายุและเพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียง รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด 

 
      ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ รับฟังสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ โอกาสนี้ องคมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานโครงการฯ พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ จากนั้น ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงาน  



      ในปี 2526 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่ใช้เงินลงทุนต่ำ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสวนปาล์มรายย่อยของประเทศ ได้มีโอกาสรวมกลุ่มกันสร้างโรงงานเพื่อสกัดน้ำมันปาล์มดิบจำหน่าย สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินงานสนองพระราชดำริ ในปี 2529 สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด ดำเนินการก่อตั้งโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ นิคมสหกรณ์อ่าวลึก เลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา มีกำลังการผลิต 1 ตันทะลายต่อชั่วโมง ต่อมาในปี 2543 ได้ย้ายสถานที่ตั้งโรงงานมาตั้ง ณ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด เลขที่ 62 หมู่ที่ 3 ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา และมีการปรับปรุงโรงงานโดยได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 2 ตันทะลายต่อชั่วโมง ปัจจุบัน สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด มีสมาชิกจำนวน 4,061 คน จากพื้นที่อำเภอปลายพระยา จำนวน 12 หมู่บ้าน และพื้นที่อำเภออ่าวลึก จำนวน 5 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตรปลูกปาล์มน้ำมัน และจะนำปาล์มน้ำมันส่งขายที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด เพื่อคัดเลือกปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มต่อไป.



 

X