ภาคีงานป้องกันอุบัติเหตุ ชี้ “ยกเลิก = ตายเพิ่ม” ใบสั่งจราจร (Police Ticket Management -PTM)

11 ตุลาคม 2566, 16:19น.


      กรณีกระแสการยกเลิก...? ไม่ยกเลิก...? ปรับเปลี่ยน...? เปลี่ยนแปลง...? ใบสั่งจราจร  (Police Ticket Management -PTM) นั้น เป็นที่สร้างความสับสนและชวนสงสัย เกี่ยวกับเรื่อง "ใบสั่ง" จราจรกรณีที่ศาลปกครองได้สั่งเพิกถอนประกาศฯ ค่าปรับจราจรแบบใบสั่งจราจร ตามคำร้องของคุณสุภา โชติงาม และเรื่องที่เตรียมกระบวนออกใบสั่งเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่กระทำผิดกฎจราจร มีกระแสบางส่วนที่เข้าใจว่าจะมีการยกเลิกการออกใบสั่งจราจร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถยกเลิกมาตรการนี้ได้ ถ้าหากมีผู้กระทำผิด ก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เพียงแต่ จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรให้เหมาะสม

      ด้านภาคีงานป้องกันอุบัติเหตุ (สอจร.) ได้ให้ข้อมูลยืนยันการลดลงของจำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ และการจ่ายค่าปรับของผู้ได้รับใบสั่งหลังกระทำผิดกฎจราจร ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกใบสั่งจราจร (Police Ticket Management -PTM) อย่างมีนัยยะ





      โดยการบังคับใช้ ใบสั่งจราจร  (Police Ticket Management -PTM) และการแชร์ข้อมูลระหว่างตำรวจ กรมขนส่ง สำหรับผู้ที่ค้างจ่ายค่าปรับจะไม่สามารถต่อทะเบียนรถได้จนกว่าจะจ่ายค่าปรับที่ค้างให้ครบ ทำให้ยอดเสียชีวิตลดต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตั้งแต่ เมษายน 2566 เป็นต้นมา เป็นที่ชัดเจนคือผลลัพธ์จากการที่ประชาชนที่ขับรถเร็ว ฝ่าไฟแดง ย้อนศร ลดน้อยลงเพราะไม่อยากเสียค่าปรับ และนี่คือผลพวงการทำงานของหลายเครือข่ายมา 3 ปี เพื่อแก้ พรบ. จราจร และเชื่อมตำรวจกับขนส่ง



ตัวอย่าง การจ่ายค่าปรับ PTM ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 100 เท่า  (ไม่จ่าย = ต่อทะเบียนรถไม่ได้)

(ข้อมูล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)







      ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร  (ผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์อำนวยการปลอดภัยทางถนน) กล่าวว่า  : เรื่องที่เรามาพูดคุยกันวันนี้ มีความเกี่ยวโยงถึง 3 ขั้น ขั้นแรก ในมุมมองของคนไทยส่วนใหญ่ ถ้าพูดถึง “ใบสั่ง” มักจะคิดว่า ถ้าทำผิดกฎจราจรแล้วไม่โดนใบสั่งก็ดี แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่โดนไม่สั่ง หากสามารถเบี้ยวไม่ต้องจ่ายค่าปรับได้ก็ดีกว่า ขั้นที่สอง คนที่โดนใบสั่ง หมายความว่าต้องเป็นคนที่มีพฤติกรรมการขับขี่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงนี้นำไปสู่ ขั้นที่สาม คือ ยอดการเจ็บตายบนท้องถนนเมืองไทยที่เพิ่มขึ้น และถือเป็นสถิติที่น่าอายมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

      ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการพัฒนากระบวนการออกใบสั่งให้เป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีหลักฐานที่ชัดเจนคือภาพจากกล้อง CCTV ที่สามารถยืนยันความผิดตามใบสั่งนั้นได้ โดยมีการบูรณาการข้อมูลระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของผู้กระทำผิดกฎจราจร และส่งใบสั่งพร้อมหลักฐานไปถึงบ้านของบุคคลนั้นได้ถูกต้อง อีกทั้งการนำระบบออกใบสั่งรูปแบบใหม่มาใช้ ยังช่วยให้ลดความเสี่ยงที่ผู้กระทำผิดจะเบี้ยว หรือละเลยไม่ชำระค่าปรับตามกำหนด เนื่องจากกรมการขนส่งได้ระบุเงื่อนไขในการต่อทะเบียนรถว่า ผู้ครอบครองรถจะต้องเคลียร์(ชำระ)ใบสั่งที่ได้รับมาให้หมดจึงจะสามารถต่อทะเบียนรถได้ จากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ส่งผลให้ยอดการเกิดอุบัติเหตุ และการเสียชีวิตบนท้องถนนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก และเห็นว่าควรดำเนินการมาตรการนี้ต่อไป และในส่วนของผู้ที่กระทำผิดกฎจราจรจริงๆ ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พยายามหลีกเลี่ยงการชำระค่าปรับ ซึ่งหากมีการยกเลิกมาตรการออกใบสั่ง ความปลอดภัยทางท้องถนนก็จะลดลง จะมียอดผู้สูญเสียมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน การดำเนินการตามมาตรการ ส่งผลให้ยอดการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่องซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีและควรดำเนินการตามมาตรการต่อไป แต่ก็คงต้องมีการหารือกันว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนด้วย



X