ไขข้อสงสัย! “กระชาย” ช่วยรักษาโรค COVID – 19 ได้หรือไม่?

12 กรกฎาคม 2564, 15:28น.


           เชื่อว่าหลายคนพยายามหาตัวช่วยในการรักษาโรค COVID – 19 ที่ปัจจุบันยังคงแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นก็คือการเลือกกินกระชายด้วยสารสกัดที่มีอยู่ ทว่า “กระชาย” จะสามารถรักษาโรค COVID – 19 ได้หรือไม่? ด้วยความห่วงใยจากการแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช จึงจะเป็นผู้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

            ผลการทดลองของสารสกัดกระชายต่อการรักษา COVID – 19


            การศึกษาในหลอดทดลอง พบว่า สาร Panduratin A ในสารสกัดกระชาย มีฤทธิ์ในการป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสก่อโรค COVID - 19 ในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจมนุษย์ได้ ทั้งนี้ การซื้อกระชายสดหรือกระชายแห้งบดผงมารับประทานเอง เพื่อหวังผลออกฤทธิ์ของสาร Panduratin A เทียบเท่ากับการวิจัยจะต้องรับประทานกระชายในปริมาณที่สูงมาก หากคำนวณคร่าว ๆ โดยอ้างอิงจากผลการวิจัยในหลอดทดลอง พบว่า จะต้องกินกระชายสดวันละประมาณ 1.8 กก. และ 40 กก. เพื่อใช้ในการรักษาและป้องกันโรคตามลำดับ

            กินกระชายมากระวังเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย


            กระชาย มีรสเผ็ดร้อนขม ทางการแพทย์แผนไทยใช้หัวกระชายเป็นส่วนประกอบในตำรับยาขับลม แก้โรคกษัย โดยส่วนใหญ่นิยมนำมาปรุงเป็นอาหาร ใช้บรรเทาอาการปวดมวนท้อง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยบำรุงกำลัง แต่การกินในปริมาณมากเกินไปตามที่ระบุผลการวิจัยในหลอดทดลอง อาจส่งผลให้เกิดการเสียสมดุลของธาตุในร่างกายได้ รสร้อนในกระชายจะทำให้ธาตุไฟในร่างกายเพิ่มขึ้นจนส่งผลต่อธาตุลม น้ำ ดิน ทำให้เกิดอาการข้างเคียงตามมา เช่น การทำงานของตับและไตผิดปกติ ตับอักเสบ

            “กระชาย” รักษาโรคโควิด 19 ได้หรือไม่?


            ปัจจุบันนี้ข้อมูลการใช้สารสกัดกระชายในการป้องกันและรักษาโรค COVID – 19 ยังอยู่ในระดับการทดลองในเซลล์เท่านั้น เพื่อเป็นการยืนยันถึงประสิทธิผลและประสิทธิภาพ รวมทั้งความปลอดภัยในการใช้สารสกัดกระชายต้าน COVID – 19 จึงต้องมีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนต่อไป ดังนั้น ณ ตอนนี้กระชายหรือสารสกัดกระชายยังไม่สามารถนำมาใช้รักษา หรือป้องกัน COVID – 19 ในคนได้

            
อย่างไรก็ตาม ยังคงแนะนำให้กระชายเป็นวัตถุดิบในอาหารกินได้ตามปกติ เช่น ผัดฉ่า แกงป่า ขนมจีนน้ำยา เป็นต้น หรือหากต้องการกินกระชายเป็นยา ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระชายเป็นส่วนประกอบหนึ่งในตำรับยา หรือนำไปทำเป็นน้ำกระสายยา แนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์เท่านั้น



 



ข้อมูล : การแพทย์แผนไทยประยุกต์ศิริราช 





 





 



 

X