โรคหัวใจเป็นโรคที่พบมากในคนไทย ซึ่งในผู้ป่วยบางคนก็มีอาการรุนแรงจนแพทย์ต้องสั่งจ่ายยาอมใต้ลิ้นมาให้ ทว่ายาอมใต้ลิ้นคืออะไร และความเชื่อที่ว่ายาอมใต้ลิ้นป้องกันหัวใจหยุดเต้นได้จริงหรือไม่? ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงจะเป็นผู้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
อาการของโรคหัวใจที่พบได้บ่อย
สำหรับอาการของโรคหัวใจที่ส่วนใหญ่พบบ่อยก็จะมี อาการเจ็บแน่นบริเวณกึ่งกลางหน้าอก อาจเจ็บร้าวไปที่คอ หลังหรือแขนข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น หอบเหนื่อย ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ขาบวม เป็นลมหรือวูบ
ยาอมใต้ลิ้น “Nitroglycerin” ช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นได้จริงหรือ?
ยาอมใต้ลิ้น Nitroglycerin (ไนโตรกลีเซอริน) คือ ยาขยายหลอดเลือด สามารถใช้ป้องกันอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ยานี้จะใช้ก็ต่อเมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเท่านั้น ส่วนความเชื่อที่ว่ายาอมใต้ลิ้นสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจหยุดเต้นได้นั้น “ไม่เป็นความจริง” เพราะยาอมใต้ลิ้นเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการแน่นหน้าอกเท่านั้น โดยวิธีการใช้ยามีดังต่อไปนี้
1. เมื่อรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก ให้อมยา 1 เม็ด ไว้ใต้ลิ้นหรือในกระพุ้งแก้มให้ละลายในปาก
2. ถ้าไม่ดีขึ้นใน 5 นาที ให้อมเม็ดที่ 2
3. หากอมเม็ดที่ 2 แล้วรอประมาณ 5 นาที หากอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ให้อมยาเม็ดที่ 3 แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ยาอมใต้ลิ้น Nitroglycerin ห้ามเคี้ยว ห้ามกลืนยา หรือห้ามบ้วนน้ำลายขณะที่อมยาอยู่ และให้พกยาติดตัวอยู่ตลอดเวลา โดยยานี้มีผลข้างเคียงทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ ดังนั้นการใช้ยาต้องอยู่การดูแลของแพทย์เท่านั้น
นอกจากการกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ แนะนำว่าให้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำอารมณ์ให้แจ่มใส หมั่นควบคุมระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันโลหิตให้อยู่ในระดับมาตรฐานเข้าไว้ ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมเกินไป
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)