“โรคซึมเศร้า” มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะในช่วงที่อาจมีความกังวล เครียด ไม่สบายใจ อย่างช่วงการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนี้ ด้วยความห่วงใยจาก ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงจะเป็นผู้อธิบายพร้อมพาไปเช็กอาการโรคซึมเศร้าในช่ว COVID – 19 สร้างความเข้าใจต่อตนเองมากขึ้น
โรคซึมเศร้าที่ควรทำความเข้าใจ
“โรคซึมเศร้า” เป็นโรคทางจิตเวชที่มีผู้เป็นจำนวนไม่น้อย บางคนเป็นโดยที่ตัวเองไม่ทราบ คิดว่าเป็นเพราะตนเองคิดมากไปเองก็มี ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และทันท่วงที ปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้นมีทั้งด้านสภาพแวดล้อมตั้งแต่เด็กจนโต เช่น การเลี้ยงดูของพ่อแม่ อิทธิพลจากคนใกล้ชิดรอบข้าง และจากพันธุกรรมหรือพื้นฐานดั้งเดิม มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีลักษณะนิสัยเป็นคนอ่อนไหวง่าย คิดมาก มองโลกในแง่ลบ รวมถึงการมีสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล
เช็ก “อาการโรคซึมเศร้า” ในช่วง COVID-19
เพื่อให้เข้าใจตนเองมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่ COVID – 19 กำลังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องสร้างความเครียดโดยไม่รู้ตัว จึงอยากให้ผู้มีความเสี่ยงลองเช็กอาการโรคซึมเศร้าในช่วง COVID – 19 กันเล็กน้อย และหากพบว่ามีมากกว่า 5 ข้อ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีอย่ากลัว
- มีอารมณ์เศร้า แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นจะแสดงอารมณ์หงุดหงิด
- รู้สึกเบื่อหน่ายในกิจกรรมที่เคยชอบ หรือทำแล้วไม่สนุกเหมือนเคย
- อยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง
- นอนไม่หลับ หรืออยากนอนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
- ทำอะไรก็รู้สึกว่าช้าลง หรือรู้สึกกระสับกระส่ายไปหมด
- รู้สึกตัวเองไร้ค้า โทษตัวเองอยู่บ่อย ๆ
- เหนื่อย เพลียง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง
- หลงลืมง่าย
- มีความคิดเกี่ยวกับการตาย หรือมีความคิดทำร้ายตนเอง
ในส่วนของการรักษาอาการโรคซึมเศร้านั้น แพทย์จะพูดคุยให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด รวมถึงการใช้ยาในกลุ่มแก้ซึมเศร้าหากมีความจำเป็น ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ แนะนำให้รีบมารับการรักษาโดยเร็วเพื่อให้อาการดีขึ้นตามลำดับ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้รักษายากยิ่งขึ้น
ข้อมูล : โรงพยาบาลรามาธิบดี