ปฏิเสธไม่ไดว่าทุก ๆ คนล้วนมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 บางคนอาจเกิดความรู้สึกกลัว รังเกียจผู้ป่วย หรือเครียดต่อปัญหาอื่นๆ จนอาจกลายเป็นโรคเครียดสะสมได้โดยเฉพาะผู้อายุที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับต้นๆ ด้วยความห่วงใยจากผศ. นพ.ฎชงค์ เหล่าธุจิสวัสดิ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับอาการและวิธีรับมือต่อความเครียดของผู้สูงอายุในช่วง COVID – 19
อาการความเครียดในผู้สูงวัย
เมื่อผู้สูงอายุเกิดความเครียดอาจทำให้มีอาการที่หลากหลายแสดงออกมาต่อผู้ดูแลได้ โดยแบ่งออกเป็น 7 อย่าง ได้แก่
- หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้
- ขาดสมาธิ ผุดลุกผุดนั่งตลอดเวลา
- การตัดสินใจแย่ลงแม้กระทั่งเรื่องทั่วไป
- เกิดความกลัวและกังวล เกี่ยวกับสุขภาพตนเองและคนรอบข้าง
- การรับประทานอาหาร และการนอนหลับผิดปกติ
- ความสนใจในสิ่งรอบตัวน้อยลง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวก็อาจทำให้อาการแย่ลง
แล้วเราจะรับมือกับความเครียดของผู้สูงอายุอย่างไร?
สิ่งที่จะช่วยรับมือที่อยากให้ทำความเข้าใจเลยก็คือไม่ควรตีตราแสดงความรังเกียจผู้ป่วย เนื่องจากจะทำให้ผู้ป่วยปกปิดข้อมูลและสถานการณ์แย่ลง ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และป้องกันตนเองตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีความปลอดภัย เช่น ทำอาหาร ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก เป็นต้น โดยที่ครอบครัวและผู้ใกล้ชิด ควรเอาใจใส่และรับฟังความเครียดเป็นพิเศษ และควรเสพข่าวอย่างมีสติ ไม่เครียดจนเกินไป พร้อมตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวเสมอ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุก ๆ คนจะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการรับมือความเครียดของผู้สูงอายุในช่วง COVID – 19 โดยสถานการณ์เช่นนี้การสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน การให้กำลังใจกันนับเป็นเรื่องสำคัญขั้นสุด แล้วอย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือสม่ำเสมอ กินร้อนช้อนกลาง อยู่ห่างกัน 1 – 2 เมตร กลับจากบ้านรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผมกันด้วยนะ
ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย