นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า การระบาดระลอกเมษายน 2564 เปอร์เซ็นต์การสัมผัสกับผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานมีตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การอยู่ในครอบครัวก็ต้องระวัง เนื่องจากอาจไม่มีอาการแต่ติดเชื้อแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในครอบครัวต้องระวังเป็นพิเศษ อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ เสียชีวิตมากที่สุดในช่วงอายุ 60–69 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 36 รองมาคือโรคเบาหวาน ร้อยละ 28 และโรคไต ร้อยละ 18
การป้องกันตนเองไม่ให้เป็นผู้ที่จะนำเชื้อโควิด-19 มาสู่สมาชิกในครอบครัว สามารถทำได้ด้วยการประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ที่ช่วยคัดกรองเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สู่ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และชุมชน รวมถึงลดความรุนแรงหากมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาหรือพบแพทย์ได้เร็วขึ้น
สำหรับสมาชิกในบ้านจำเป็นต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดเมื่ออยู่ร่วมกัน โดยขอให้ปฏิบัติตัวดังนี้
1️. ถ้าต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากตลอดเวลาขณะอยู่ร่วมกับผู้อื่น
2️. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดบุคคลอื่น เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง
3️. กินอาหารสะอาด ปรุงสุก มีการแยกกันกินอาหาร หากต้องกินร่วมกันควรใช้ช้อนกลางส่วนตัว และลดการพูดคุยขณะกินอาหาร
4️. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
5️. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์
6️. ออกกำลังกายเป็นประจำมากกว่า 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ นานอย่างน้อย 30 นาที
7️. สังเกตอาการตัวเองและวัดไข้ทุกวัน หากมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการทางเดินหายใจ ตาแดง ผื่นแดง ถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์
8️. ทำความสะอาดจุดสัมผัสหรือใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม
9️. สมาชิกทุกคนเมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที