!-- AdAsia Headcode -->

ไขปัญหาคาใจเมื่อ “ผู้ป่วย COVID – 19 กลับบ้าน” สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

10 พฤษภาคม 2564, 15:20น.


            เชื่อว่าหลายคนเกิดปัญหาคาใจหลากหลายของผู้ป่วย COVID – 19 ที่รักษาตัวเสร็จสิ้นและกลับบ้านมาเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะต้องแยกตัวจากสมาชิกในบ้านไหม มีโอกาสติดเชื้ออีกหรือเปล่า เพราะเคยป่วยวัคซีนจึงจำเป็นต้องฉีดอยู่หรือ? ด้วยความห่วงใยจาก อ. พญ.ปัทมา ต.วรพานิช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย จึงจะเป็นผู้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับปัญหาคาใจเมื่อผู้ป่วย COVID – 19 กลับบ้าน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

      ไขปัญหาคาใจเมื่อผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้าน


1. อาการคงที่แล้ว ต้องตรวจหาเชื้อไวรัสในร่างกายหรือไม่?

           ตอบ : ไม่จำป็นต้องตรวจหาเชื้อไวรัส (RT-PCR) ในทุกคน การตรวจขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

2. จำเป็นต้องแยกตัวจากสมาชิกภายในครอบครัวหรือไม่?

            ตอบ : จำเป็นต้องแยกจากสมาชิกในครอบครัวประมาณ 10 - 14 วัน โดยแยกของใช้ส่วนตัว และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

3. สามารถออกไปสถานที่สาธารณะได้หรือไม่ แล้วจะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสซ้ำอีกไหม

            ตอบ : สามารถออกไปได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ซึ่งก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสซ้ำได้ หากได้รับเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่ หรือได้รับเชื้อในระหว่างที่ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อลดลงมากแล้ว

4. เคยป่วย COVID – 19 แล้ว จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีกหรือไม่ แล้วจะบริจาคเลือดได้หรือเปล่า?

            ตอบ : จำเป็นฉีดวัคซีนป้องกัน COVID – 19 ภายหลังจากหายป่วยแล้ว 3 - 6 เดือน ทั้งนี้ สามารถบริจาคเลือดได้ หลังหายป่วยและได้รับการยืนยันว่าไม่พบเชื้อแล้วอย่างน้อย 4 สัปดาห์

            อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าลืมป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดเสมอแม้ว่าจะเคยป่วย ยังไม่เคยป่วย หรือฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ COVID – 19 แล้วก็ตาม ไม่ว่าจะ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่ เจล/สเปรย์แอลกอฮอล์สม่ำเสมอ กินร้อนช้อนกลาง เว้นระยะห่าง 1 – 2 เมตร หลังกลับจากข้างนอกรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน



 



ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย







 



      

X