สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เผย 'วิธีจัดการและดูแลจิตใจเด็ก' หากพ่อแม่ต้องถูกกักตัว หรือนำไปรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19

03 พฤษภาคม 2564, 08:19น.


     ในปัจจุบันมีจำนวนคนป่วยโควิด-19 หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่าถ้าติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงสูง คนเหล่านี้จะต้องเข้ารับการรักษาหรือกักตัวเองให้ห่างจากคนอื่นเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองใกล้ชิดเด็กถูกกักตัว หรือนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล ทำให้ต้องแยกจากเด็ก ๆ ที่ดูแล ทำให้เด็ก ๆ อาจมีผลกระทบทางจิตใจตามมาได้ไม่มากก็น้อย เมื่อต้องห่างจากบุคคลอันเป็นที่รัก

     ทั้งนี้ พฤติกรรมที่กระทบทางจิตใจนั้นอาจเกิดขึ้นกับเด็กทุกวัย บางคนคิดว่าเด็กเล็ก ยังไม่รู้ประสีประสา อาจจะไม่เข้าใจอะไรมากนัก แต่การไม่ค่อยเข้าใจนั่นเองอาจทำให้เด็กเกิดความเครียดได้ เพราะด้วยบรรยากาศที่เด็กเคยอยู่กับพ่อแม่คนที่ใกล้ชิด แต่เมื่อบรรยากาศเปลี่ยนไป การที่เขาต้องไปอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นญาติ ที่ไม่ได้สนิทมากนัก อีกทั้งกิจวัตรต่าง ๆ ที่เด็กเคยได้ทำอาจต้องเปลี่ยนไป



     ด้วยเหตุนี้ในวันที่เด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่และผู้ปกครองที่ใกล้ชิด คนรอบข้างที่เข้ามาจึงต้องมีวิธีการช่วยดูแลที่จะช่วยให้เด็กจัดการความรู้สึกแย่ ๆ ดังนี้

     1) ควรให้เด็กได้ติดต่อพูดคุยกับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดที่ต้องกักตัวสม่ำเสมอ ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เด็กสามารถพูดคุยผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ การคุยกันวีดีโอคอล หรือคุยโทรศัพท์ ซึ่งเป็นการปลอบโยนให้เด็กรู้สึกสบายใจ ถือเป็นการให้เวลาที่มีคุณค่ากับเด็ก

     2) ผู้ที่ดูแลควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุดเท่าที่พอทำได้ หากจำเป็นจะต้องเปลี่ยน อาจต้องอธิบาย และสร้างความคุ้นเคยกับเด็กในการทำอะไรใหม่ ๆ เช่น การต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อน ๆ ทำไม่ได้แล้ว เป็นต้น

     3) ผู้ที่ดูแลต้องทำความเข้าใจในพฤติกรรมของเด็ก โดยการแสดงออกทางความรู้สึกไม่สบายใจของเด็กนั้นเป็นไปได้หลายทาง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ไม่ได้มีพฤติกรรมเหมือนผู้ใหญ่ที่จะพูดบอกความรู้สึกตัวเองได้ ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ติดผู้เลี้ยงมากขึ้น พฤติกรรมถดถอย อะไรที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ หงุดหงิด โกรธ ดื้อ ต่อต้าน และปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น

     4) การตอบสนองต่อปฏิกิริยาของเด็กที่เกินควรนั้น ผู้ที่ดูแลควรจะสร้างความเข้าใจ ไม่ใช่การดุ ตำหนิ ขู่ หรือไปโมโหเด็ก

     5) ควรรับฟังความไม่สบายใจของเด็ก โดยเปิดโอกาสให้เด็กพูด หรือถามคำถามที่สงสัยในเรื่องที่เกิดขึ้น

     6) ให้ความรักเอาใจใส่เด็กอย่างเหมาะสม อย่าคิดว่าที่เด็กมีความเครียดหรือพฤติกรรมถดถอย เป็นการเรียกร้องความสนใจ เพราะเป็นธรรมดาที่เด็ก ๆ จะต้องการความรักความสนใจมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าตามใจไปหมด การให้ความรักความสนใจ คือ การมีเวลาทำกิจกรรม เล่น และคุยกับเด็ก

     7) เล่นและทำกิจกรรมผ่อนคลายกับเด็กมากขึ้น

     8) ควรจะให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องของโควิด-19กับเด็ก ว่าในปัจจุบันเกิดอะไรขึ้น และต้องทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยใช้คำพูดที่เด็กสามารถเข้าใจได้ง่าย

     9) หมั่นคอยสอนเด็กว่าหากมีอาการป่วยต่าง ๆ ต้องบอกผู้ใหญ่ เช่น หากเด็กรู้สึกไม่ดี มีอาการไอ เจ็บคอ ตัวร้อน หายใจแล้วเหนื่อย ให้บอกเด็กว่าผู้ใหญ่สามารถช่วยหนูได้ หรือจะพาหนูไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลเพื่อจะช่วยให้หนูดีขึ้นได้ เป็นต้น

     10) ผู้ที่ดูแลเด็กควรต้องรักษาสุขภาพกายและจิตใจให้ดี เพราะหากมีความเครียด หรือมีความกังวล การไปช่วยเด็ก ๆ อาจทำได้ยาก และทำให้เด็กมีผลกระทบทางจิตใจมากขึ้น



 


ข้อมูลจาก :

- https://www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/helping-children-cope-with-stress-print.pdf

- หนังสือ เรายังรักกันทุกวันจ้ะ : ชุดนิทานสร้างเสริมสุขภาพป้องกัน COVID-19 สามารถดาวน์โหลดหนังสือเดินทางสร้างสุขเพื่อเด็กปฐมวัยได้ที่ www.happyreading.in.th
X