7 ประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ภาวะ ISRR กับวัคซีน COVID – 19”

28 เมษายน 2564, 15:21น.


            เมื่อพูดถึงภาวะ ISRR (Immunization Stress-Related Responses) หรือปฏิกิริยาที่สัมพันธ์กับความเครียดจากการฉีดวัคซีน เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเกิดความสงสัยในหลายประเด็น ด้วยความห่วงใยจากคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขมาร่วมอธิบายและไขความสงสัย สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

            “ภาวะ ISRR กับวัคซีน COVID – 19”

            1. อาการของภาวะ ISRR

            ตอบ : มีได้หลายรูปแบบ เช่น ชา อ่อนแรง คลื่นไส้ วิงเวียน เป็นลม ตามัว พูดไม่ชัด เกร็ง โดยปัจจัยที่ส่งเสริมการเกิด ได้แก่ ความวิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอและเจ็บป่วยก่อนฉีดวัคซีน

            2. อาการที่เกิดขึ้นเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทหรือเป็นภาวะหลอดเลือดสมอง จริงหรือไม่

            ตอบ : แพทย์จะตรวจพบอาการที่มีความผิดปกติจริง เช่น ชา อ่อนแรง ปากเบี้ยว บางคนมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง แต่ไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่แท้จริง เมื่อตรวจเอกซเรย์ หรือเอ็มอาร์ไอสมอง และการตรวจอื่นๆ พบว่าปกติ

             3. จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นภาวะ ISRR

             ตอบ : อาการมักเกิดขึ้นไม่นานหลังได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่มักเกิดใน 5 – 30 นาที อาการจะเป็นชั่วคราวและหายเป็นปกติใน 1 – 3 วัน มักเกิดเป็นกลุ่มก้อน เกิดได้กับทุกวัคซีนทุกรุ่นการผลิต

             4. วิธีดูแลผู้ป่วยที่อาจเป็นภาวะ ISRR

             ตอบ : ช่วงแรกอาจแยกไม่ได้ว่าเป็นภาวะ ISRR หรือเป็นความเจ็บป่วยจริง หากแพทย์ตรวจพบความผิดปกติอาการตรงกับโรคหลอดเลือดสมองจะให้การรักษาตามระบบบริการทางด่วนของโรคหลอดเลือดสมอง แต่หากไม่พบความผิดปกติ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายได้เอง

            5. ผู้ที่เกิดภาวะ ISRR ควรรับวัคซีนเข็มที่ 2 หรือไม่?

            ตอบ : ควรพิจารณาเป็นคนๆ ไป หากมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถรับวัคซีนชนิดเดิมได้ หรืออาจพิจารณาเปลี่ยนชนิดวัคซีน หรือเลื่อนการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปออกไปก่อน

             6. ประชาชนควรได้รับวัคซีนโคโรนาแวค (บริษัทซิโนแวค) หรือไม่?

            ตอบ : ควรอย่างยิ่ง เพราะประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่า และอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตราย

            7. ผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือกสมอง สามารถรับวัคซีนโคโรนาแวค (บริษัทซิโนแวค) ได้หรือไม่?

            ตอบ : ควรได้รับวัคซีน และกินยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด ไม่เป็นข้อห้ามของการฉีดวัคซีน



            เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุกๆ คนจะเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องเรื่องภาวะ ISRR กับวัคซีน COVID - 19 แต่ที่สำคัญแม้จะมีวัคซีนแต่เกราะป้องกันที่ดีที่สุดและไม่อาจมองข้ามไปได้ คือการสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์/หน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่ หรือสเปรย์/เจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ เว้นระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร กินร้อนช้อนกลาง กลับมาจากนอกบ้านรีบอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที



 



ข้อมูล : คณะแพทยศาตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล



 







 



 

X