ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นความแข็งแรงของร่างกายเริ่มถดถอยลงตามลำดับโดยเฉพาะผู้ที่เข้าสู่ช่วงวัยทอง ซึ่งปัญหาสุขภาพที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยก็คือโรคกระดูกพรุน ทว่าวัยทองกับโรคกระดูกพรุนสัมพันธ์กันอย่างไร แล้วอาการที่พบในวัยทอง และการดูแลตัวเองต้องทำอย่างไร ด้วยความห่วงใยจากนายแพทย์กฤตกาล เตลพล อาจารย์สาขาวิชาสูติ – นรีเวชกรรม ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงจะเป็นผู้ออกมาอธิบายสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง
“วัยทอง” มีความสัมพันธ์กับโรคกระดูกพรุนอย่างไร?
ต้องบอกเลยว่าวัยทองมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนได้น้อยลงโดยเฉพาะในผู้หญิงที่ร่างกายหมดประจำเดือนโดยธรรมชาติ มีการเสื่อมสภาพการทำงานของรังไข่ เกิดการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เลือดประจำเดือนจะขาดหายไปซึ่งภาวะนี้เรียกว่า Menopause ส่งผลให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้
โดยภาวะกระดูกพรุนควรระมัดระวังการพลัดตกหกล้มเป็นเหตุให้กระดูกหัก ยิ่งช่วงบริเวณสะโพกที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดเรื้อรัง และรุนแรงถึงขั้นพิการได้ แนะนำให้กินอาหารครบ 5 หมู่ เน้นแคลเซียมรวมถึงวิตามินดีที่เป็นแร่ธาตุสำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง
อาการที่พบบ่อยในสตรีวัยทอง
ในส่วนของอาการที่พบได้บ่อยในช่วงวัยทองนั้นมีด้วยกันหลากหลาย ลองไปสังเกตพร้อมๆ กันดูว่ามีลักษณะอาการตามนี้หรือไม่
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- ผมแห้ง ผิวแห้ง
- เครียดง่าย หงุดหงิด ซึมเศร้า
- ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ อันเป็นผลจากการร้อนวูบวาบ
- กระดูกหลังยุบตัว หลังค่อม ความสูงลดลง
- ช่องคลอดแห้งจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง
การดูแลสุขภาพของสตรีวัยทอง
ให้กินอาหารประเภทแคลเซียมเพิ่มขึ้น เช่น งาขาว งานม กุ้งแห้ง กุ้งฝอย นม ผักใบเขียวทุกชนิด ปลาดเล็กปลาน้อย และอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน ได้แก่ ฟักทอง แครอท ถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ กะหล่ำปลี บรอกโคลี ข้าวกล้อง รวมถึงลดหรืองดอาหารประเภทแป้ง อาหารมัน อาหารทอด อาหารเค็ม น้ำหวาน ชา กาแฟ ที่สำคัญเลือกออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามวัย และผ่อนคลายความเครียดเป็นประจำ เช่น นั่งสมาธิ เป็นต้น
ผู้ที่มีอาการวัยทองควรได้รับการตรวจคัดกรอง และวินิจฉัยจากแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามากินเองเพราะอาจมีส่วนประกอบของสารเสตรียรอยด์ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนมากยิ่งขึ้น โดยโรคกระดูกพรุนนี้เป็นภัยเงียบที่ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ จึงแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก (BMD)
ข้อมูล : ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ