ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันพุธที่ 17 มีนาคม 2564

17 มีนาคม 2564, 08:54น.



รมว.คลัง เตรียมหารือแลกนักท่องเที่ยว-สงกรานต์ตั๋วบินเต็มแล้ว



          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  เชื่อว่า เศรษฐกิจไตรมาส 4 จะดีขึ้นแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเป็นผลมาจากมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 และนักท่องเที่ยวมีใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19  นอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องไปเจรจากับประเทศต้นทางที่คนไทยอยากจะเดินทางท่องเที่ยวเพื่อส่งคนทยอยออกไป เพื่อแลกกับต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศด้วย



          กรณีที่สหรัฐฯ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1,900,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่า จะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เป็นทางเดียวที่สร้างรายได้ เนื่องจากการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา



          นายอาคม เปิดเผยผลการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ทำเนียบฯ เมื่อวานนี้ว่า สบายดี และไม่มีผลข้างเคียง ไม่รู้สึกปวดแขน ก็ฉีดวัคซีนอย่างอื่นอยู่บ่อยๆ เมื่อมีวัคซีนแล้วส่งผลดีต่อเศรษฐกิจแน่นอน และจะได้รับความคุ้มกันด้วยวัคซีนซึ่งทำให้คนมั่นใจมากขึ้น



          อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเม.ย. 64 ที่จะถึงนี้ ทางสายการบินต่างๆ ถูกจับจองเที่ยวบินเต็มทุกเที่ยวบินแล้ว และปริมาณการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงนี้ก็เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีเพราะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ



         ส่วนการติดเชื้อที่ตลาดย่านบางแค มองว่า รัฐบาลจะใช้มาตรการควบคุมเฉพาะพื้นที่เหมือนกรณีการระบาดรอบที่แล้วที่จังหวัดสมุทรสาคร และเชื่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจะสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดได้ ขณะที่รูปแบบการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ยังต้องรอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 19 มี.ค.64



แฟ้มภาพ กระทรวงการคลัง



ลุ้นเศรษฐกิจฟื้น-เบรกโครงการคนละครึ่งเฟส 3



          สถาบันจัดอันดับเครดิตรวมทั้งศูนย์วิจัยหลายแห่ง ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่น รวมทั้งประชาชนกลุ่มฐานราก จะมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนที่จะออกมาตรการฟื้นฟู หรือเดินหน้ามาตรการคนละครึ่งเฟส 3 ต่อเนื่องหรือไม่ จะต้องรอติดตามสถานการณ์ก่อน และยังต้องติดตามดัชนีตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้ง ช่วงนี้จะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ขอรอติดตามตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจก่อน คาดการณ์ว่าดีขึ้นแน่นอน ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นภาคการส่งออกก็ต้องฉวยโอกาสไว้ เพราะรายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ส่วนการส่งออกไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องไวรัส แต่การท่องเที่ยวมีข้อจำกัดอยู่ ถ้า ศบค.ผ่อนปรนมาตรการจำกัดการเดินทางได้ คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 ดีขึ้นแน่นอน



เสนอโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 3 ให้ครม.พิจารณา 23 มี.ค.



          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึง ความคืบหน้าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 (เฟส 3) ว่าเป็นโครงการต่อเนื่องจาก 2 ระยะแรกที่มีผู้ใช้สิทธิจองห้องพักในโครงการครบ 6,000,000 ห้องแล้ว เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ยังเปิดประเทศไม่ได้ จึงเน้นกระตุ้นเดินทางในประเทศก่อน ททท.จึงตั้งใจขยายเวลาการใช้เราเที่ยวด้วยกัน จนถึงวันที่ 31 ก.ค.64 รวมถึงเพิ่มจำนวนห้องพักอีก 2,000,000 ห้อง ความคืบหน้าขณะนี้ หลังจาก ททท.ได้หารือร่วมกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 15 มี.ค.64 ได้รับการบ้านมาให้จัดทำรายละเอียดของโครงการทุกด้าน เพื่อนำเสนอเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ในวันนี้ หลังจากนั้นจะนำรายละเอียดของโครงการที่ได้ทั้งหมด นำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า 23 มี.ค.64 เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป



         พยายามเร่งให้เราเที่ยวด้วยกันผ่านการอนุมัติของ ครม.ภายในเดือนนี้ เพื่อให้ประชาชนใช้เที่ยวได้ทันในเดือนหน้าช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่มีวันหยุดยาว สนับสนุนการออกเดินทางท่องเที่ยวอยู่ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นที่สอดคล้องกัน



แพทย์ แนะวิธีสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนโควิด-19



          ศ.นพ.วิปร วิประกษิต ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ ระดับโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ตามปกติวัคซีน หรือยา หรือ สารเคมีใดๆที่เราใช้กับร่างกายทุกชนิด ถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายของเราไม่รู้จัก ซึ่งแน่นอนว่าร่างกายจะต้องมีปฏิกิริยาหรือ รีแอ็กชัน เกิดขึ้น โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม



-กลุ่มที่หนึ่ง เรียกว่า อาการไม่พึงประสงค์ เกิดขึ้นได้จากยา หรือวัคซีนทุกชนิด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ เช่น ปวดบวมแดง เจ็บในตำแหน่งที่ฉีด สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบช่วยบรรเทาอาการได้ และอาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน



-กลุ่มที่สอง เรียกว่า อาการแพ้วัคซีน ซึ่งมีหลายระดับ หากแพ้รุนแรงเรียกว่า anaphylaxis ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก อาจมี 1 ในล้าน ซึ่งเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น ผื่นแดงบนผิวหนัง ที่สังเกตได้ง่ายคือ ลมพิษ เป็นผื่นนูน มีขอบเขตชัดเจน อาจคันหรือไม่ก็ได้ ส่วนอาการแพ้ที่รุนแรง อาจมีอาการหลอดลมตีบทำให้หายใจลำบาก ไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง เกล็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออกตามร่างกาย ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก หมดสติ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที



         ในวัคซีนนอกจากมีไวรัสทั้งตัวที่ทำให้ตายแล้ว หรือชิ้นส่วนของดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอ ของไวรัส ที่ใช้ในการกระตุ้นภูมิต้านทานแล้ว ในวัคซีนยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกนับสิบชนิด เช่น สารแขวนลอย สารกันบูดเพราะวัคซีนต้องมีการขนส่ง ผลิตล็อตหนึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน มีการส่งจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง หรือสารเคมีที่ผู้ผลิตวัคซีนนั้นใช้เพื่อทำให้เราสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นการแพ้วัคซีนนั้น อาจจะไม่ได้แพ้ตัวไวรัส หรือชิ้นส่วนไวรัส แต่เราอาจจะแพ้องค์ประกอบอื่นๆที่อยู่ภายในตัววัคซีนนั้นก็ได้ โดยคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีประวัติเรื่องการแพ้ อาการไม่พึงประสงค์ มักจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีแรกหลังรับวัคซีน ถ้ามีปฏิกิริยาที่ชัดๆ จะเห็นได้ภายใน 10 นาทีแรก ส่วนคนที่มีประวัติการแพ้มาก่อน อาจจะเกิดขึ้นหลัง 30 นาทีก็ได้ แต่คนที่มีอาการรุนแรง ก็มักจะมีการดูแลตัวเองอยู่แล้ว จะมียาแก้แพ้ยาฉีด และคนกลุ่มนี้พบไม่มากในประเทศไทย แต่สำหรับประชาชนโดยทั่วไปแล้ว โอกาสที่จะแพ้แบบรุนแรงจะมีน้อยมาก



          นอกจากนี้ ย้ำเตือนประชาชนที่รับวัคซีนแล้ว จะต้องสังเกตอาการตนเอง และรายงานผ่านระบบไลน์หมอพร้อม หลังการฉีด 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน การบันทึกนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเราเอง และจะเป็นข้อมูลระดับประเทศที่ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือ แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว แต่ต้องไม่ละเลย ด่านแรกในการสร้างเกราะส่วนตัว ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างเพื่อร่วมแรงร่วมใจสร้างสังคมไทยปลอดภัยจากโควิด-19 อย่างเต็มรูปแบบ



 



 




 

ข่าวทั้งหมด

X