ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30น.วันอังคารที่ 16 มีนาคม 2564

16 มีนาคม 2564, 13:09น.



รองนายกฯ ประวิตร เผยเหตุไม่ฉีดวัคซีน อายุมากแล้ว  



          พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กล่าวถึง เหตุผลที่ไม่ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาว่าเพราะอายุมากแล้ว ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนคนอื่นๆ ประกอบด้วย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์



         รัฐมนตรีที่ประสงค์จะฉีด อายุมากกว่า 60 ปี จะต้องฉีดวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ประกอบด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ อายุ 65 ปี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อายุ 71 ปี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมว.กลาโหม อายุ 64 ปี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง อายุ 64 ปี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา อายุ 65 ปี นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อายุ 60 ปี นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย อายุ 62 ปี และนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย อายุ 62 ปี



          รายชื่อรัฐมนตรีที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จะต้องฉีดวัคซีนของซิโนแวค ประกอบด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน อายุ 46 ปี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อายุ 47 ปี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม อายุ 58 ปี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม อายุ 37 ปี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ อายุ 58 ปี



ฉีดเข็มแรกเหมือนกัน! นายกฯญี่ปุ่น เผยเหมือนจะเจ็บแต่ก็ไม่เจ็บ



          นายกฯ โยชิฮิเดะ สึกะ ของญี่ปุ่น วัย 72 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรก ที่สถาบันสุขภาพและการแพทย์แห่งชาติ ในกรุงโตเกียว เป็นวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ซึ่งรัฐบาลนำเข้าล็อตแรก เมื่อต้นเดือนก.พ.64  ผู้นำญี่ปุ่น ตอบว่า "เหมือนจะเจ็บแต่ก็ไม่เจ็บ" นายสึกะ เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกในคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19



         ทั้งนี้ เดือนเม.ย.64 ผู้นำญี่ปุ่น มีกำหนดเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ เป็นผู้นำคนแรกซึ่งเข้าพบ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ



17 มี.ค. กทม.ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงจากการระบาดที่ตลาดบางแค




          กรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ตลาดบางแค วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.64) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. เปิดเผยว่า หลังจากที่กรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนและได้ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่ปฎิบัติงานใน 6 เขตที่อยู่ติดกับจังหวัดสมุทรสาคร และประชาชนในกลุ่ม 7 โรคเสี่ยงแล้ว ก็มีแผนจะขยายการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนกลุ่มอื่นๆ ดังนี้



1.ในกลุ่มผู้ที่รักษาพยาบาลในโรงพยาบาล 6 เขตใกล้จังหวัดสมุทรสาคร โดยสามารถติดต่อกับโรงพยาบาลได้โดยตรง หรือลงทะเบียนในไลน์หมอพร้อม



2.อนุมัติการฉีดวัคซีนฉุกเฉิน ในกลุ่มผู้ที่มีประวัติเสี่ยงจากการระบาดที่ตลาดบางแค โดยส่วนหนึ่งสามารถไปรับการฉีดที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ ส่วนกลุ่มที่ไม่สะดวกเดินทางหรือหากเดินทางแล้วเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อ พรุ่งนี้ (17 มี.ค.64) เวลาประมาณ 09.00 น.-10.00 น. กรุงเทพมหานคร จะไปตั้งเต็นท์และจัดรถโมบายล์สำหรับฉีดวัคซีนที่หน้าตลาดบางแค เพื่อให้บริการฉีดวัคซีน โดยจะปฎิบัติตามขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 



3.เตรียมฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ที่อยู่นอกเขตติดต่อกับจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม โดยกรุงเทพมหานคร จะได้รับการจัดสรรวัคซีนอีก 240,000 โดส  จึงเพียงพอที่จะจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ในเขตพื้นที่อื่นๆ



          สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงจากการระบาดที่ตลาดบางแค โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อ โดยสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูง จากการสอบสวนโรคอยู่แล้ว เบื้องต้นมีประมาณ 6,000 คน เพียงพอกับวัคซีนที่จัดสรรไว้กรณีฉุกเฉินประมาณ 6,000 โดส โดยตั้งเป้าวันแรก ฉีดได้ประมาณ 500-600 คน และจะเพิ่มจำนวนในวันต่อไป



          ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ในการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ตลาดบางแค จะมีการคัดกรองตรวจสอบประวัติก่อนฉีดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนตามปกติ ดังนั้น ผู้ที่มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก ความดันสูง จะถูกคัดออกไม่สามารถรับวัคซีนได้อยู่แล้ว  ส่วนกรณีผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เพราะในต่างประเทศก็มีการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการเช่นกัน



         อธิบดีกรมการแพทย์ ยังระบุว่า แม้ผู้ที่ผ่านการตรวจหาเชื้อแล้วผลเป็นลบ ก็ต้องเข้ารับการฉีดด้วย เพราะมีตัวอย่างผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่แม้จะหายป่วยจากโควิด-19 แล้ว แต่ปรากฏว่าไม่มีภูมิคุ้มกัน แพทย์ต้องฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาให้ ดังนั้นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงในตลาดบางแคและชุมชนที่มีการระบาด สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนในวันพรุ่งนี้ได้




บางแค ปิด 6 ตลาด ล้างทำความสะอาดฆ่าเชื้อโควิด-19



         น.ส.รุจิรา อารินทร์ ผู้อำนวยการเขตบางแค เปิดเผยว่า สำนักงานเขตบางแค ระดมกำลังกับเจ้าหน้าที่ร่วมกับผู้ค้า  Big Cleaning ทำความสะอาดตลาด บริเวณย่านตลาดสดบางแค ถนนเพชรเกษม เขตบางแค ทั้ง 6 ตลาด ได้แก่ ตลาดศูนย์การค้าบางแค ตลาดกิตติ ตลาดวันเดอร์ ตลาดสิริเศรษฐนนท์ ตลาดใหม่บางแค ตลาดภาสม  รวมทั้งแผงค้าริมบาทวิถีบริเวณหน้าตลาดบางแค เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 16-18 มี.ค.64  จากนั้นจะประเมินผลจากการตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง หากพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะพิจารณาขยายเวลาปิดตลาดออกไป



         ในช่วงเช้า จะทำความสะอาด (แบบแห้ง) ตั้งแต่การปัดกวาดเช็ดถู ล้างทำความสะอาดแผงค้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ปัดหยากไย่เพดาน สะสางขยะ ของเหลือใช้ ปรับปรุงพื้นที่ตลาดให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก พร้อมตักขยะ ขุดลอกท่อ และฉีดไล่น้ำในท่อระบายน้ำในพื้นที่ตลาด 



          ในช่วงบ่าย เป็นการฉีดล้าง ขัด และฆ่าเชื้อ ด้วยน้ำประปา และฉีดล้างน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวสัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรคและบริเวณโดยรอบ



CR:ประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร 



สมุทรสาคร พบติดเชื้อเพิ่ม 34 คน



          สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ณ เวลา 24.00 น. วันที่ 15 มี.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 34 คน



-ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 20 คน เป็นต่างชาติทั้งหมด



-การตรวจพบในโรงพยาบาล 3 คน เป็นคนไทย 2 คน ต่างชาติ 1 คน



-การตรวจภายในโรงงานขนาดใหญ่ หรือ Bubble & Sealed 11 คน เป็นคนไทย 1 คน ต่างชาติ 10 คน



         ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในจังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่มีการระบาดรอบใหม่อยู่ที่ 16,922 คน การพบผู้ติดเชื้อจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 13,756 คน เป็นคนไทย 1,436 คน ต่างชาติ 12,320 คน พบเชื้อจากการตรวจในโรงพยาบาล 3,120 คน เป็นคนไทย 1,651 คน ต่างชาติ 1,469 คน พบเชื้อภายในโรงงานขนาดใหญ่ หรือ Bubble & Sealed 46 คน เป็นคนไทย 5 คน ต่างชาติ 41 คน มีผู้ป่วยที่รักษาหาย/จำหน่ายเคสแล้ว 16,590 คน เป็นคนไทย 3,006 คน ต่างชาติ 13,584 คน มีผู้เสียชีวิตสะสม 8 ราย ส่วนผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างการดูแลรักษามีทั้งหมด 324 คน เป็นการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 125 คน แบ่งเป็นคนไทย 79 คน ต่างชาติ 46 คน อยู่ในสถานที่กักตัวเพื่อสังเกตอาการ 199 คน เป็นต่างชาติทั้งหมด




 

ข่าวทั้งหมด

X