ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30น.วันอังคารที่ 26 มกราคม 2564

26 มกราคม 2564, 13:39น.



พรุ่งนี้ สธ.เสนอรูปแบบการผ่อนคลายมาตรการในที่ประชุมคณะกก.เฉพาะกิจ





          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19  และการเตรียมผ่อนคลายในมาตรการต่างๆ




-ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขได้หารือกันทุกเช้าเพื่อสรุปแนวทางในการผ่อนคลายสถานที่ต่างๆ และในวันพรุ่งนี้จะเสนอรูปแบบให้ที่ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณา เช่น ร้านอาหาร สถานประกอบการ สถานบันเทิงและโรงเรียน เมื่อได้ข้อสรุปจะเสนอให้ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 ม.ค. 64



-วันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 959 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 14,646 คน  เนื่องจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก พบว่าติดเชื้อในประเทศ 937 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 22 คน




-การคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และ กรุงเทพมหานคร สองพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 70 คน ในกรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อ 17 คน เป็นการคัดกรองเชิงรุกในตลาดสดพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมาอีก 4 คน



-กลุ่มอายุที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ คือ อายุ 20-29 ปี  และ 30-39 ปี เป็นวัยทำงานที่มีการเดินทาง สังสรรค์ ท่องเที่ยว กลุ่มนี้แข็งแรง ติดเชื้อไม่มีอาการ และจะเห็นว่า ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 1.36 ต่อ 1



-กรุงเทพมหานคร พบผู้ติดเชื้อที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์มากที่สุดจากทั่วประเทศจำนวน  11 คน  แบ่งเป็นพยาบาลและแพทย์และกระจายไปตามวิชาชีพอื่นๆ  



-5 เขตในกรุงเทพมหานครที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด เขตบางขุนเทียน 130 คน เขตบางแค เขตจอมทอง 29 คน เขตบางพลัด 26 คน เขตบางบอน 27 คน และเขตภาษีเจริญ 22 คน



CR:กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข




ปลดล็อคดาวน์ 2 หมู่บ้านนครพนม คัดกรอง1.4พันไร้เชื้อ



         ความคืบหน้ากรณี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.นครพนม  มีคำสั่งล็อกดาวน์หมู่บ้านหนองกุดแคน หมู่ 8 และ หมู่ 15  ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เพื่อเฝ้าระวังคัดกรองควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังพบหญิงป่วยติดเชื้อ อายุ 51 ปี คนแรกของ จ.นครพนม ซึ่งติดเชื้อจากเพื่อนบ้านที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯช่วงเทศกาลปีใหม่  โดยติดตามไทม์ไลน์ผู้ป่วยเพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงใกล้ชิดต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 64 รวมเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อแล้วกว่า 1,400 คน  ผลปรากฏว่าไม่พบเชื้อ จึงมีคำสั่งปลดล็อกพื้นที่ 2 หมู่บ้านดังกล่าว เพื่อให้ชาวบ้านกว่า 200 หลังคาเรือนเดินทางเข้าออกได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพ และความเป็นอยู่  แต่ยังคงมีมาตรการเฝ้าระวัง คัดกรองดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อตามจุดเสี่ยงเป็นระยะ นอกจากนี้ ในส่วนของ จ.นครพนม ยังมีมาตรการเข้มในการดูแล คัดกรองทุกพื้นที่ชุมชน ทั้ง 12 อำเภอ ตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูง รวมถึงตั้งจุดตรวจตามเส้นทางข้ามระหว่างจังหวัด บุคคลที่มาจากพื้นที่เสี่ยงสูงจะต้องแจ้ง และเข้าสู่การกักตัว หากฝ่าฝืนจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายเด็ดขาด



‘นพ.มนูญ’ ชี้เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ทำให้เสียชีวิตมากขึ้น เสนอกลุ่มไม่เสี่ยงในไทยฉีดวัคซีนเข็มเดียวก่อน



         นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์ผ่านเพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า เคยเขียนไว้ตั้งแต่เดือนส.ค.63ว่าประเทศไทยจะเจอโรคโควิด-19 ระบาดรอบที่สอง เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ ทำให้ติดต่อกันง่ายขึ้น และก่อโรครุนแรงขึ้น ก่อนหน้านี้นักไวรัสวิทยาเชื่อว่าเชื้อกลายพันธุ์ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรค ล่าสุดมีรายงานเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในประเทศอังกฤษ สายพันธุ์ “B.1.1.7” พบแล้วในหลายสิบประเทศ ไม่เพียงแต่ติดต่อกันได้ง่ายขึ้นกว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดิมก่อนหน้านี้ถึง 70% เท่านั้น ยังเพิ่มความรุนแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นด้วย



          ผลการศึกษา ชี้ว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนัก-เสียชีวิตมากขึ้น หากผู้ป่วยชายในวัย 60 ปีขึ้นไปได้รับเชื้อสายพันธุ์เดิม อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ราว 10 คนจาก 1,000 คนที่ติดเชื้อ แต่หากเป็นเชื้อกลายพันธุ์อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ราว 13-14 คน เพิ่มขึ้น 30-40%



          เชื้อสายพันธุ์ใหม่เป็นเชื้อที่ฟิต แข็งแรง แบ่งตัวเพิ่มจำนวนในทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างมากกว่าเดิม ถ้าวัดปริมาณเชื้อจะพบจำนวนเชื้อ (viral load) มากกว่าสายพันธุ์เดิม คนติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่จึงแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นง่ายขึ้น เชื้อสายพันธุ์ใหม่เกาะตัวรับของเซลล์ในทางเดินหายใจและผ่านเข้าสู่เซลล์ได้ดีกว่าสายพันธุ์เดิม ฆ่าเซลล์ของระบบทางเดินหายใจได้มากขึ้นทำให้โรครุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต



          เชื้อสายพันธุ์ B.1.1.7 ยังไม่มีรายงานในประเทศไทย เชื่อว่าอีกไม่นานเชื้อกลายพันธุ์นี้ก็จะแทนที่เชื้อสายพันธุ์เดิมทั่วโลก ต่อให้มีวัคซีนในส่วนตัวเชื่อว่า โรคไวรัสโควิด-19 จะอยู่กับเราต่อไปเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนโรคไข้หวัดใหญ่



         วัคซีนที่ผลิตขึ้นใช้เวลาศึกษาอย่างน้อย 9 เดือนก่อนจะออกมาใช้ เป็นวัคซีนที่ใช้ต้นแบบของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดิมเมื่อเดือนม.ค.63 เราไม่ทราบว่าวัคซีนนี้สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ปัจจุบันของประเทศอังกฤษ และสายพันธุ์ใหม่ของประเทศอเมริกาใต้ 501.V2 ได้ดีหรือไม่



         สำหรับประเทศไทยเนื่องจากปีนี้เรามีวัคซีนไม่เพียงพอ ขอเสนอว่า ถ้าเป็นไปได้คนไทยส่วนใหญ่รวมทั้งแรงงานต่างชาติ (ยกเว้นเด็กและหญิงตั้งครรภ์) ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพียงเข็มเดียวก็พอ แล้วรอวัคซีนโควิด-19 ปีหน้าซึ่งคงจะเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นสำหรับสายพันธุ์ใหม่ของปีนี้ เหมือนกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปีปีละ 1 เข็ม




CR:เฟซบุ๊ก นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ FC



พบรายแรก ! ในสหรัฐฯ ผู้ป่วยติดเชื้อกลายพันธุ์จากบราซิล




          นางแจน มัลคอล์ม คณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุขของรัฐมินนิโซตา สหรัฐฯเปิดเผยว่า รัฐมินนิโซตาพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์จากบราซิล หรือสายพันธุ์ P.1 เป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ ผู้ป่วยเพิ่งเดินทางมาจากบราซิลเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ P.1 เป็นหนึ่งใน 4 สายพันธุ์ที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค(CDC)ของสหรัฐฯเฝ้าระวังมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ มีรายงานเรื่องเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ P.1 ส่วนใหญ่ในบราซิล และเมื่อเร็วๆนี้ ญี่ปุ่นพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ P.1 กับผู้ป่วย 4 คน เพิ่งเดินทางมาจากบราซิล



          นางมัลคอล์ม ระบุว่า ก่อนหน้านี้ รัฐมินนิโซตาได้จัดตั้งโครงการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ของรัฐมินนิโซตา เป็นโครงการร่วมมือระหว่างห้องแล็บของมหาวิทยาลัยรัฐมินนิโซตา ห้องแล็บของบริษัทอินฟินิตี้ ไบโอโลจิกซ์ในเมืองโอ๊คเดลและหุ้นส่วนอื่นๆในรัฐมินนิโซตา เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยมาตรวจแยกสารพันธุ์กรรมของเชื้อไวรัสอย่างละเอียด สัปดาห์ละ 50 ตัวอย่างและพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ P.1 ดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะการแพร่ระบาดเร็วกว่าเชื้อไวรัสดั้งเดิม หลายฝ่ายกังวลว่าคนที่หายจากโรคโควิด-19 ชนิดดั้งเดิมแล้วอาจจะกลับมาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ P.1 ได้



         เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบราซิล รายงานว่า พบเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ P.1 ส่วนใหญ่ในเมืองมาเนาส์ เมืองเอกของรัฐอามาโซนัส บราซิล แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าทำให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยรุนแรงกว่าหรือเสียชีวิตเร็วกว่าเชื้อไวรัสดั้งเดิม ในปัจจุบัน สหรัฐฯมีผู้ป่วยสะสม 25,861,597 คน เสียชีวิต 431,392 ราย



 

ข่าวทั้งหมด

X