ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30น.วันอังคารที่ 26 มกราคม 2564

26 มกราคม 2564, 07:25น.



หมอโสภณ’ ยืนยัน วัคซีนแอสตราฯ ผลข้างเคียงน้อย




          นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลผลการฉีดวัคซีนของบริษัทแอนตราเซเนกา ในต่างประเทศ มีรายงานผลข้างเคียงน้อยกว่าบริษัทอื่น ถือว่าเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยสูงและมีประสิทธิภาพที่ดี น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรคของประเทศไทย



          สำหรับ จ.สมุทรสาคร คาดว่า จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ในระยะแรก โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรด้านสาธารณสุข 6,000-7,000 คน กลุ่มบุคลากรสนับสนุนอื่นๆประมาณ 1,000 คน และประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มที่มีโรคประจำตัวอีกกว่า 100,000 คน



หลักการฉีดวัคซีน ยึดหลัก 2 ประการ คือ



-บุคคลที่มีความเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขด่านหน้า เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าหมอก็กล้าฉีด รวมทั้งบุคลากรที่สนับสนุนการป้องกันโควิด-19 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ ไต



-พื้นที่ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ จ.สมุทรสาคร, อ.แม่สอด จ.ตาก และพื้นที่ชายแดนภาคใต้



         คาดว่า วัคซีนลอตแรก จากบริษัทแอสตราเซเนกา จำนวน 50,000 โดส จะมาถึงไทยประมาณสัปดาห์แรกของเดือน ก.พ. 64 เพื่อให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบ จากนั้นสัปดาห์ที่ 2 จะกระจายวัคซีนไปในพื้นที่ที่กำหนด และคาดว่าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.พ.64จะเริ่มฉีดวัคซีนได้



         กระทรวงสาธารณสุข วางระบบติดตามและประเมินผลภายหลังการฉีด โดยจะต้องฉีดยาในโรงพยาบาล หากมีการแพ้ยาจะได้ดูแลได้ทันที และเมื่อมั่นใจว่าไม่มีผลข้างเคียงมาก จะเร่งฉีดให้ครอบคลุมให้เร็วที่สุด โดยจะให้ฉีดที่สถานีอนามัยที่มีแพทย์และเครื่องมือที่พร้อม รวมทั้งนำรถโมบายออกให้บริการ



การฉีดวัคซีนต้องสมัครใจ กำลังดูช่องทางที่สะดวกให้ปชช.ลงทะเบียน



         นพ.โสภณ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นการฉีดด้วยความสมัครใจ ต้องมีการสำรวจความต้องการของผู้ประสงค์จะฉีด ใช้ระบบไอทีเข้ามาช่วย บุคลากรสาธารณสุขที่ประสงค์จะฉีดจะต้องลงทะเบียนโดยจัดทำ Line Official Account ในชื่อว่า ‘หมอพร้อม’ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.64 ส่วนประชาชนทั่วไป กำลังดูว่าจะลงทะเบียนผ่านช่องทางใดที่สะดวกที่สุด นอกจากนี้ ยังได้เตรียมระบบการติดตามภายหลังการฉีดวัคซีน โดยผู้รับบริการจะต้องรับวัคซีนในโรงพยาบาล และนั่งรออย่างน้อย 30 นาที และติดตามอาการหลังการฉีด 1 วัน 7 วัน และ 28 วัน ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่



“อนุทิน”เล็งคลายล็อกตามสีพื้นที่

          นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 29 ม.ค.64 จะมีการประชุมคณะทำงานก่อน กระทรวงสาธารณสุข จะรายงานสถานการณ์ข้อมูลและข้อควรปฏิบัติให้รับทราบ โดยต้องคำนึงถึงปากท้องประชาชน ผู้ประกอบการ ส่วนจะผ่อนคลายอย่างไรบ้างต้องรอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ สำหรับการคลายล็อกสถานศึกษาที่อาจจะคลายล็อกให้พื้นที่สีเขียวก่อน กระทรวงสาธารณสุข จะประชุมเพื่อเตรียมนำเสนอว่าพื้นที่ใดเป็นสีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ก่อนที่จะมีมาตรการควบคุมออกมา โดยแบ่งเป็นหมวดๆเพื่อเสนอศบค.ต่อไป



3 เขตในกทม.ที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด



          ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 63 - 24 ม.ค. 64 รวม 678 คน แล มี 3 เขตที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด



-เขตบางขุนเทียน จำนวน 148 คน

-เขตจอมทอง จำนวน 35 คน

-เขตบางพลัด จำนวน 32 คน



-เขตสะพานสูง และ เขตสัมพันธวงศ์ ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ





CR:สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร



อ่างทอง เร่งค้นหาเชิงรุก เพื่อประกาศพื้นที่ปลอดโรค  



          นพ.ศรีศักดิ์ ตั้งจิตธรรม นพ.สาธารณสุข จ.อ่างทอง นพ.อเนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี เจ้าหน้าที่ รพ.วิเศษชัยชาญ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ ต.บางจัก ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (ทีม CDCU ) สำนักงานสาธารณสุขของวิเศษชัยชาญ มีการจัดกิจกรรมเชิงรุก Restart ทำการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 จากสถานการณ์การระบาด ระลอก 2 ของโรคโควิด-19

          อ่างทองเป็นจังหวัดหนึ่งที่พบผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 116 คน และในพื้นที่ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ มียอดผู้ป่วยรวม 16 คน ใน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 9 จากการสอบสวนโรค โดยชุดปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (ทีม CDCU) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอวิเศษชัยชาญ พบว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ตำบลบางจัก เกิดจากงานเลี้ยงสังสรรค์งานหนึ่งในหมู่บ้าน เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 64 มีคนมาร่วมงานประมาณ 100 คน หนึ่งในนั้นคือผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันได้มาร่วมงานด้วย จึงเกิดการแพร่เชื้อไปในกลุ่มผู้มาร่วมงานหลายราย 



         จากผลการตรวจโรค พบว่า ผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดได้รับเชื้อในช่วงเวลาเดียวกันเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในหมู่ที่ 3 ซึ่งมีผู้ป่วยมากที่สุด ทำให้เกิดการรังเกียจจากสังคมภายนอก ไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้ ชาวบ้านได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ จึงทำการคัดกรองผู้ป่วยที่อาจจะหลงเหลือในหมู่บ้าน และจะได้ประกาศหมู่บ้านปลอดโรคให้ประชาชนในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตได้ปกติ และได้รับการยอมรับ ไม่แสดงกิริยา หรืออาการรังเกียจจากสังคมภายนอก



28 ม.ค. Big Cleaning โรงเรียนในกทม. เตรียมพร้อมรับเปิดเรียน



          พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสำนักการศึกษาและสำนักพัฒนาสังคม เตรียมพร้อมเปิดเรียน และในวันที่ 28 ม.ค.64 โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 437 แห่งจะจัดกิจกรรมBig Cleaningพร้อมกัน แนวทางที่จะต้องดำเนินการ เช่น



-จำกัดผู้ปกครองและบุคคลที่จะเข้ามาในโรงเรียน การคัดกรอง การเน้นย้ำให้สวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง การล้างมือ การทำความสะอาด



-การค้นหาและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงในโรงเรียน



-การเน้นให้นักเรียนได้เรียนในที่โล่ง



-การจำกัดเวลาในการรับประทานเพื่อให้นักเรียนใช้เวลาถอดหน้ากากอนามัยน้อยที่สุด โต๊ะอาหารต้องมีฉากกั้นและเว้นระยะนักเรียน แม่ครัวและพนักงานล้างจานต้องสวมหน้ากากอนามัย ถุงมือ อาหารที่ปรุงต้องสะอาดและสุกใหม่ จัดให้มีการเหลื่อมเวลาในการพักรับประทานอาหาร



-การใช้ห้องน้ำจะจัดให้สลับกันตามความเหมาะสมมีการรอคิวและเว้นระยะห่างอย่างชัดเจน และการดูแลให้นักเรียนล้างมือเป็นประจำทุกชั่วโมง 



         กรุงเทพมหานคร มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน จำนวน 292 ศูนย์ ในพื้นที่ 45 สำนักงานเขต (ยกเว้น บางบอน บางรัก สัมพันธวงศ์ พระนคร และบางกอกใหญ่) โดยได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อเตรียมพร้อมเปิดศูนย์แบ่งเป็น 2 ระยะ



-ระยะเตรียมการก่อนเปิด ประกอบด้วย การติดตั้งแผนกรองอากาศ การทำความสะอาดพื้นผิวการเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ล้างมือ  ในส่วนของอาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก ได้จัดอบรมหลักสูตรด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยเรื่องการป้องกันโรค การเตรียมการสอนและการจัดกิจกรรมโดยรักษาระยะห่าง เป็นต้น



-ระยะเปิดดำเนินการ เป็นช่วงที่ต้องปฎิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด รวมทั้ง จัดอัตราส่วนเด็กก่อนวันเรียน (Small Group) จัดกลุ่มกิจกรรมไม่เกินกลุ่มละ 5 คนต่ออาสาสมัครผู้ดูแลเด็ก 1 คน เว้นระยะห่างระหว่างกลุ่ม  การจัดกิจกรรมภายในศูนย์ฯ ยึดหลักเกณฑ์ 2 ตรม./คน จัดพื้นที่การเรียนรู้เป็นรายบุคคลและลดเวลาทำกิจกรรมเท่าที่จำเป็น ใช้อุปกรณ์เป็นรายบุคคล กิจกรรมที่ควรงด งดการต่อแถวแบบประชิดและกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มเกิน เช่น การแข่งกีฬา เป็นต้น



แฟ้มภาพ กรุงเทพมหานคร



โรงเรียนฝึกอาชีพ เตรียมเปิดสอนออนไลน์ 1 ก.พ.



 โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร ปรับแผนการเรียน ประกอบด้วย



-ผลิตคลิปวิดีโอ จำนวน 41 คลิป (ล่ามภาษามือ) เพื่อให้คนพิการได้เรียนรู้ด้วยตนเอง



-การเรียนการสอนผ่านสื่อออนไลน์ด้วยวิธีไลฟ์สด วันละ 2 ช่วงเวลา คือ 10.00 -12.00 น. และ 13.00- 15.00 น. ช่วงเวลาละ 2 วิชา หลักสูตรระยะยาว เริ่มการออนไลน์(ทฤษฎี)ในวันที่ 1 ก.พ.64 ในวิชาที่คนเรียนจำนวนมาก ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์



-วิชาที่ต้องมีการเรียนภาคปฏิบัติ เช่น การนวดแผนไทย การตัดผม(เสริมสวย) ฯลฯ จะเรียนภาคทฤษฎีผ่านสื่อออนไลน์ ส่วนภาคปฏิบัติ อาจารย์จะนัดกลุ่มมาฝึกปฏิบัติโดยอยู่ในมาตรการ social distancing



 



 



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X