หลังมีการนำเสนอประเด็น"วัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ล่าสุดนางนวลพรรณ ล่ำซำ ในนามของ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ส่งข้อมูล ชี้แจงสถานะของ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ความว่า การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตราเซเนกาผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก ในเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่าสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูงสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตราเซเนกาส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกา ที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก
สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19ของแอสตราเซเนกาใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศและส่งออก
โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากลมีศักยภาพที่จะรองรับการผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกาได้ทุกขั้นตอน และเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยสามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต สยามไบโอไซเอนซ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตราเซเนกา
ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวง สาธารณสุขจำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัทเอสซีจี 100 ล้านบาทเพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุดเมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตราเซเนกาเป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับเพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป
ก่อนหน้านี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาและผลิต ชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19แบบ RT-PCRซึ่งเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)และได้มอบให้หน่วยงานราชการใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในประเทศมากกว่า 100,000 ชุด