กรณีมีเสียงวิจารณ์จากนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่โพสต์เฟซบุ๊กว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม มีราคาแพงพอๆ กับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ทำให้วันนี้ (25 ม.ค.64) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริง โดยระบุว่า ราคาที่ปรากฎเป็นข่าวก่อนหน้านี้ คือ ราคาเริ่มต้น 17 บาท คิดตามระยะทาง 3-4 บาทต่อสถานี และมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท ไม่ใช่ราคาที่ รฟม.จะประกาศใช้จริงเมื่อเปิดโครงการ ราคาดังกล่าวเป็นเพียงอัตราค่าโดยสารพื้นฐานคำนวนตามมาตรฐานสำหรับจัดทำรายงานวิเคราะห์โครงการ ที่กำหนดสมมติฐานว่าจะเปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในปี พ.ศ. 2566-2567 ที่ระบุไว้ในเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน เพื่อให้เอกชนสามารถจัดทำข้อเสนอร่วมลงทุนโดยมีสมมติฐานหรือบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อ รฟม.จะได้ประเมินรายละเอียดข้อเสนอของเอกชนแต่ละรายบนบรรทัดฐานเดียวกัน ว่าเอกชนรายใดมีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับรัฐสูงสุด
นายภคพงศ์ กล่าวว่า เมื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่ผ่านการประเมินสูงสุดแล้ว รฟม.ก็จะเจรจากำหนดอัตราค่าโดยสารจริง เหมือนกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เช่น สายสีม่วง สีชมพู และสีเหลือง โดยพิจารณาจากพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสาร, ระยะเดินทางเฉลี่ยของผู้โดยสาร, ความเต็มใจและความสามารถในการจ่ายค่าโดยสารของประชาชน รวมทั้ง รฟม.รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคม ให้คิดค่าโดยสารให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ ประชาชนยอมรับได้ ซึ่ง รฟม.คาดการณ์ค่าโดยสารเมื่อเปิดบริการโครงการสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในปี พ.ศ.2567 จะมีค่าโดยสารเริ่มต้นหรือค่าแรกเข้าอยู่ที่ 15 บาท จากนั้นคิดตามระยะทาง ประมาณ 2 บาท 50 สตางค์ ต่อสถานี และอัตราค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท
โครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. จะมีการปรับอัตราค่าโดยสารเป็นวงรอบทุก 2 ปี โดยจะคิดค่าโดยสารจากดัชนีอัตราเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และความสามารถในการจ่าย ซึ่งในอดีตบางช่วงที่ครบ 2 ปี ก็ไม่มีการปรับขึ้น หรือบางช่วงก็ปรับลดลง ตามอัตราเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนและจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชนแทนรถส่วนตัว ลดปัญหาจราจรและฝุ่นละอองขนาดเล็ก
นอกจากนี้ รฟม.ยังมีเป้าหมายในการทำค่าโดยสารรวมหรือค่าโดยสารกลางของทุกสาย โดยเมื่อมีการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางแบบเต็มรูปแบบ มีผู้ใช้บริการมากขึ้น และเอกชนคุ้มทุนแล้ว ก็จะเชิญเอกชนร่วมลงทุนมาเจรจา เพื่อจัดทำอัตราค่าโดยสารรวมของทุกสาย
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะเชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ตะวันออกและตะวันตก โดยสายตะวันออก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 17 สถานี คาดว่า จะเปิดให้บริการปี 2567 และสายตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ 11 สถานี คาดว่าจะเปิดบริการปี 2569