วิทยาศาสตร์ไม่เคยเลือกข้างการเมือง! สธ.ย้ำรอบคอบเลือกวัคซีนโควิด-19 ยึดความปลอดภัยประชาชน

22 มกราคม 2564, 16:13น.


         การใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในประเทศไทย นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์  ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า  ขณะนี้วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือเสริมในการควบคุมป้องกันโรค เมื่อได้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย รักษาความสะอาดส่วนตัว เพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วย 


          ส่วนวัคซีนที่มีการทยอยใช้ในทั่วโลกขณะนี้ เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ใช่ในภาวะปกติ  การจะเลือกวัคซีนตัวใดมาใช้ มีหลักการพิจารณา คือ


1.ต้องมีความปลอดภัย 


2.ต้องมีประสิทธิภาพที่รับได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ว่า วัคซีนต้องมีประสิทธิภาพร้อยละ 50 ขึ้นไป


3.ราคาต้องไม่แพงจนเกินไป 


         แต่ในขณะนี้ ตลาดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นตลาดที่อยู่ในมือผู้ขาย ไทยในฐานะผู้ซื้อ จะต้องสั่งจองวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งต้องมีการแย่งชิงกับอีกหลายๆ ประเทศ เมื่อจองได้แล้วก็ต้องจ่ายเงินค่าจอง แต่หากบริษัทผลิตวัคซีนพัฒนาวัคซีนไม่สำเร็จ เงินที่จ่ายไปแล้วก็จะไม่ได้คืน


          ดังนั้น ทีมสาธารณสุข จึงต้องคิดทบทวนศึกษารายละเอียดของวัคซีนของแต่ละบริษัทอย่างรอบด้าน  และเมื่อได้วัคซีนมาแล้ว ก็ต้องนำไปให้องค์การอาหารและยา หรือ อย.ตรวจสอบและขึ้นทะเบียน ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ได้ผ่านกันง่ายๆ เหมือนการขึ้นทะเบียนรถ เพราะต้องตรวจสอบหลายอย่าง ตั้งแต่มาตรฐานของโรงงานที่ผลิต ผลการศึกษาวิจัยที่ต้องสม่ำเสมอ ตรวจสอบผลกระทบและประสิทธิภาพการทดลองวัคซีนในสัตว์และมนุษย์  ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีเอกสารจากการวิจัยเป็นหมื่นๆ หน้า แต่ละหน้าต้องวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน โดยขณะนี้ วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย.แล้ว 


          กรณีวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา นพ.ทวี อธิบายว่า ไทยได้นำเสนอโรงงานผลิตยาหลายโรงงานให้กับทางบริษัทแอสตราเซเนกาพิจารณา และไม่ได้มีประเทศไทยนำเสนอเพียงประเทศเดียว แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่นำเสนอโรงงานผลิตยาให้แอสตราเซเนกาพิจารณา และผลสุดท้ายทางบริษัทแอสตราเซเนกาได้เลือกโรงงานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นโรงงานผลิต ซึ่งหลังจากได้รับเลือกแล้ว ก็ยังต้องมีการปรับปรุงโรงงานให้ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทแอสตราเซเนกาวางไว้ เป็นการบ่งบอกได้ชัดเจนว่า สยามไบโอไซเอนซ์ มีมาตรฐานที่แอสตราเซเนกายอมรับ จะได้มาในเบื้องต้นเพียง 20 ล้านโดส เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้า และผู้สูงอายุ



         ส่วนวัคซีนอีกตัว คือ ซิโนแวคจากจีน ซึ่งผลิตด้วยวิธีการทำให้เชื้อไวรัสตายแล้วกรองเอาเชื้อโรคออก ก่อนจะฉีดเข้าร่างกาย เป็นวัคซีนที่มนุษย์คุ้นเคย เพราะมีการใช้วัคซีนประเภทนี้มาหลายสิบปีแล้ว จึงค่อนข้างมั่นใจว่า วัคซีนชนิดนี้ จะปลอดภัยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการผลิต ซึ่งยังไม่มีใครรู้ผลกระทบข้างเคียงที่ชัดเจน ขณะนี้วัคซีนของบริษัทซิโนแวค กำลังอยู่ในกระบวนการขึ้นทะเบียนของ อย.



          ส่วนกรณีที่มีผู้กังวลว่า วัคซีนมาจากประเทศจีน นพ.ทวี ระบุว่า วัคซีนหลายตัวที่ใช้งานกันในขณะนี้ ก็มาจากจีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันสมองอักเสบ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี  แม้บางคนอาจจะติดที่ความรู้สึก แต่ยืนยันว่า วัคซีนทุกตัวที่จะนำมาใช้กับคนไทย จะผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องผ่านการรับรองจาก อย. ที่มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด  พร้อมขอให้ผู้ที่คัดค้าน หรือไม่เข้าใจ ขอให้มองด้วยใจเป็นกลาง เป็นธรรม ขอให้เข้าใจว่าทีมแพทย์กำลังทำงานอย่างหนักมากเพื่อคนไทย  กระบวนการนำเข้าวัคซีนของไทยก็ไม่ได้ช้ากว่าประเทศอื่น 



           นพ.ทวี ย้ำว่า วิทยาศาสตร์ไม่เคยเลือกข้างการเมือง  นักวิทยาศาสตร์จะใช้วิทยาศาสตร์ในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมยืนยันว่าทีมสาธารณสุข จะทำงานอย่างตรงไปตรงมา โดยยึดถือความปลอดภัยและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก 

ข่าวทั้งหมด

X