'นพ.ยง' ชี้แจงไทยใช้วัคซีนจากแอสตราเซเนกา-ซิโนแวค ปลอดภัยและดีที่สุด
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาใช้ในประเทศไทย โดยระบุว่า ขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ถือเป็นวัคซีนใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้งานมาก่อน และตลาดเป็นของผู้ขายหรือผู้พัฒนาวัคซีน ดังนั้น ไม่ว่าผู้ซื้อจะมีเงินเท่าไหร่ ก็ไม่อาจซื้อวัคซีนได้ครบจำนวนตามที่ต้องการ และการจัดหาวัคซีนสำหรับประชากรโลกทั้งหมด ไม่มีทางเป็นไปได้
ส่วนประเด็นที่ประชาชนสนใจ คือ การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของวัคซีนต่างๆ ที่มีในตลาดหลายบริษัท โดยเฉพาะวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา กับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค อันไหนจะมีประสิทธิภาพ หรือดีกว่ากัน นพ.ยง อธิบายว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ปัจจุบันมีการผลิตออกมาหลายวิธี หลายเทคโนโลยี เช่น
1. วัคซีนที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีแบบ mRNA เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค รวมทั้งของบริษัทโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีนใหม่ ใช้การผลิตแบบไฮเทคโนโลยี ซึ่งไม่เคยมีการใช้วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ในมนุษย์มาก่อนเลย
2.วัคซีนที่ผลิตแบบไวรัลเวกเตอร์ เช่น วัคซีนของแอสตราเซเนกา , สปุตนิค 5 ของรัสเซีย วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ เคยมีการผลิตและใช้ในมนุษย์มาก่อน นั่นคือ ไวรัสอีโบลา ซึ่งวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ จะใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วและไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ลงไป เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือเรียกว่า ไวรัสถูกทำหมันแล้ว ดังนั้นจึงต้องฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม ส่วนวัคซีนของบริษัทจอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ที่ระบุว่า ใช้ไวรัสที่ไม่ถูกทำหมัน ฉีดแค่ครั้งเดียวนั้น ถือว่าเป็นของใหม่ที่ต้องผ่านการทดลองที่ถี่ถ้วนก่อน
3.วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคที่ตายแล้ว (killed vaccine) เช่น วัคซีนของบริษัทซิโนแวค วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ ถูกใช้ในมนุษย์มานานกว่า 70 ปีแล้ว ที่คุ้นเคยกันดี เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ข้อดีของวัคซีนประเภทนี้ คือ เป็นวัคซีนรุ่นเก๋า ที่มนุษย์คุ้นเคย ปลอดภัยแน่นอน และการศึกษาผลข้างเคียงก็ง่ายกว่า แต่มีข้อเสียคือ เนื่องจากการผลิตจะต้องเพาะเชื้อไวรัสจำนวนมาก นับล้านๆเท่า ดังนั้นจึงต้องใช้ห้องเพาะเชื้อที่เป็นห้องชีวนิรภัยระดับสูง ป้องกันเชื้อโรคหลุดรอดออกมา ผู้ที่ทำงานในห้องนั้นต้องสวมชุดอวกาศป้องกันเชื้อไวรัส เมื่อเพาะเชื้อได้มากตามที่ต้องการแล้วจึงทำให้มันตาย ก่อนจะผลิตวัคซีน ซึ่งจะมีข้อจำกัดคือ หากจะผลิตจำนวนมาก จะไม่สามารถลดราคาต้นทุนได้
ดังนั้น การที่ประเทศไทยเลือกใช้วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ผลิตง่าย ผลิตในโรงงานได้ ไม่ต้องใช้เชื้อก่อโรค และในอนาคตจะราคาถูก
การเลือกวัคซีนจากซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ไม่สามารถสั่งซื้อทีละมากๆ ได้ ถือว่าเป็นการเดินสายกลาง และเลือกทางที่ดีที่สุดในการจัดหาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมาให้ประชาชน
ส่วนการเลือกฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มใดก่อนนั้น นพ.ยง อธิบายว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ทุกบริษัทพัฒนาออกมา ยังไม่มีผลการศึกษาเลยว่า จะลดการติดโรค ลดการเป็นพาหะโรคได้ หรือป้องกันการติดเชื้อได้ มีเพียงแค่ลดอาการของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงจะเสียชีวิตมากที่สุดก่อน นั่นคือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มมีโรคประจำตัว ส่วนกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับโรค ก็จะต้องเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนเช่นกัน
ในขณะที่กลุ่มคนหนุ่มสาว หรือแรงงาน เนื่องจาก ผลการศึกษาวัคซีนทุกตัวขณะนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่า หากฉีดไปแล้ว จะป้องกันการติดโรคหรือรับประกันว่าจะไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะฉีดให้กลุ่มหนุ่มสาวหรือแรงงาน ยกเว้นว่าจะมีผลการศึกษาที่รับรองชัดเจน
ส่วนกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจาก การผลิตวัคซีนขณะนี้ ยังไม่เคยมีการทดลองใช้ในเด็กเลย ประกอบกับเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 มักมีอาการน้อย หายเร็ว และโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก จึงควรรอผลการศึกษาที่ชัดเจนก่อนว่า ใช้ในเด็กแล้วปลอดภัยหรือไม่ และต้องให้ในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม เช่นเดียวกับ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งตามหลักการแล้ว วัคซีนใหม่จะไม่มีการใช้ในสตรีตั้งครรภ์ แต่หากมีรายใดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก มีการวิเคราะห์แล้วว่าหากไม่ได้รับวัคซีนจะมีผลต่อสุขภาพอย่างมาก ค่อยนำมาพิจารณาเป็นรายกรณีไป
ฟลอริดา พบผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์จากอังกฤษมากที่สุด 46 คน จาก 122 คนในสหรัฐฯ
องค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุในแถลงการณ์เรื่องการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ว่า จนถึงวันนี้มี 60 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย บราซิล อินเดียและสเปน รายงานต่อ WHO ว่า พบเชื้อโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ (เรียกว่าสายพันธุ์ B.1.1.7) พบจากกลุ่มผู้โดยสารที่มาจากอังกฤษ หรือพบการระบาดในท้องถิ่น เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดเดียวกับที่พบระบาดในอังกฤษ และพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ (เรียกว่าสายพันธุ์ 501.V2) ระบาดใน 23 ประเทศเช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ประเทศจีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และไต้หวัน
โดยเฉพาะสหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค(CDC) ระบุว่า เจ้าหน้าที่ CDC สหรัฐฯระบุว่าจากการวิเคราะห์ตัวอย่างเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ พบคนไข้โควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษรวม 122 คนใน 20 รัฐของสหรัฐฯ พบมากที่สุดในรัฐฟลอริดา 46 คน รองลงมาที่รัฐแคลิฟอร์เนีย 40 คน และในรัฐโคโลราโด 6 คน และพบในรัฐมินิโซตา 5 คน
CDC ระบุว่าแม้ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์จากอังกฤษ จะแพร่ระบาดเร็วกว่าเชื้อไวรัสดั้งเดิม แต่ยังไม่มีหลักฐานว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ ร้ายแรงกว่า เช่น ทำให้คนป่วยเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ดั้งเดิม
เริ่มล็อกดาวน์! เขตต้าชิง ทางใต้กรุงปักกิ่ง
เทศบาลกรุงปักกิ่ง ของจีน ออกแถลงการณ์เรื่องการล็อกดาวน์ อย่างน้อย 5 แขวง ของเขตต้าซิง ทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่ง ครอบคลุมประชากรมากกว่า 1,600,000 คน เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 20 ม.ค. 64 เป็นต้นไป มาตรการล็อกดาวน์ เช่น
-คนที่จะสามารถออกนอกพื้นที่ได้ ต้องมีผลตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นลบ ภายในเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง
-การรวมกลุ่มในสถานที่สาธารณะไม่ว่าจะกลางแจ้งหรือในร่ม มีโควตาไม่เกิน 50 คน
-ขอให้เลื่อนการแต่งงานออกไปก่อน
-การจัดงานศพ ขอให้จัดแบบเรียบง่ายที่สุด
-จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ชั่วคราว ในโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนมัธยมศึกษา
โควิด-19 ฉุดความเชื่อมั่นเดือนธ.ค.63 และอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 เมื่อเดือนพ.ย.63 ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง เกิดจากโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐ ออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการลดลงโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดยังมีความล่าช้า เนื่องจาก มาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนใน EEC ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 เมื่อเดือนพ.ย.63 เนื่องจาก ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มากขึ้น ผู้ประกอบการขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วและเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม
ส.อ.ท.มีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการเสริมสภาพคล่อง SMEs 5 ข้อ ดังนี้
1) ขอไม่จำกัดวงเงินกู้ในการขอสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป
2) ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก
3) ขอให้ปรับการจัดลำดับการตัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ตัดจากเงินต้นก่อน เพื่อเป็นการปรับลดจำนวนหนี้ให้ผู้ประกอบการ
4) ให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลงร้อยละ 1
5) ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่ม
มาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ
รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืน ในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564
หุ้นไทย ลดลง 6.87 จุด หุ้นต่างประเทศ ขานรับแพคเกจกระตุ้นศก.ของสหรัฐฯ
การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดที่ 1,515.72 จุด ลดลง 6.87 จุด หรือร้อยละ 0.45 มูลค่าการซื้อขาย 93,559.65 ล้านบาท
การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
-ดัชนีนิกเกอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ญี่ปุ่น ปิดปรับตัวลงในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร และชะลอการซื้อขายก่อนนายโจ ไบเดน เข้าพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันนี้ ดัชนีปิดตลาด 28,523.26 จุด ลดลง 110.20 จุด
- ดัชนีฮั่งเส็ง ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดวันนี้ปรับตัวขึ้น 29,962.47 จุด เพิ่มขึ้น 320.19 จุด หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน ว่าที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่นำเสนอโดยนายไบเดน พร้อมกับเรียกร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสผลักดันให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
‘ทรัมป์’ ไม่ได้ลงนามอภัยโทษให้ตัวเอง
ความเคลื่อนไหวที่สหรัฐฯ ก่อนที่นายไบเดน จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
-ทำเนียบขาว ออกแถลงการณ์ว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งอภัยโทษให้บุคคล 73 คน และบรรเทาโทษให้บุคคลอีก 70 คน โดยไม่ปรากฏชื่อของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะหมดวาระ และสมาชิกสายตรงในครอบครัวของนายทรัมป์อยู่ในกลุ่มที่อภัยโทษ บุคคลที่น่าสนใจ ซึ่งได้รับการอภัยโทษ รวมถึง นายสตีฟ แบนนอน วัย 67 ปี หนึ่งในที่ปรึกษาคนสนิทของนายทรัมป์ ตั้งแต่แคมเปญหาเสียงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 และได้มีโอกาสทำงานที่ทำเนียบขาว ในตำแหน่งหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ และที่ปรึกษาอาวุโส นายแบนนอน ถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงเงินจากกลุ่มผู้สนับสนุนของนายทรัมป์ ในการระดมทุนเพื่อร่วมโรงการก่อสร้างกำแพงกั้นพรมแดนติดกับเม็กซิโก
-กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ถอดเจ้าหน้าที่ 12 นายของกองกำลังพิทักษ์แห่งชาติของสหรัฐฯ ออกจากการรักษาความปลอดภัยพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตามที่เอฟบีไอ มีการตรวจสอบประวัติเจ้าหน้าที่ที่มาทำหน้าที่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว พบว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก่อเหตุรุนแรงขึ้น โดยบางคนมีการโพสต์ข้อความสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง และบางคนมีประวัติใช้ความรุนแรง โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.64 แต่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯต้องป้องกันไว้ก่อน
อิหร่าน ย้ำมาตรการกดดันของ ‘ทรัมป์’ ล้มเหลว
ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่าน กล่าวถึง การเปลี่ยนผ่านอำนาจทางการเมืองในสหรัฐฯ ว่าระบบการบริหารอันเลวร้ายกำลังจะสิ้นสุด และกาลเวลายังพิสูจน์ด้วยว่า มาตรการกดดันถึงขีดสุด ที่รัฐบาลนายทรัมป์ใช้ต่ออิหร่านตลอด 4 ปี ที่่ผ่านมาถือว่า ล้มเหลว ผู้นำอิหร่าน ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลชุดใหม่เรื่องข้อตกลงนิวเคลียร์ว่าแม้ว่านายทรัมป์ จะลงจากตำแหน่ง รัฐบาลอิหร่าน จะยังคงยึดมั่นและปฏิบัติตามข้อตกลงในส่วนของตัวเองต่อไป ขณะเดียวกัน กองทัพอิหร่าน เผยแพร่ภาพเพิ่มเติม เป็นการฝึกซ้อมรบภาคพื้นดิน ตามแนวชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศ ใกล้กับอ่าวโอมาน ขณะที่ นายแอนโทนี บลิงเคน ว่าที่รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และพล.อ.ลอยด์ ออสติน ว่าที่รมว.กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าอิหร่าน ยังคงเป็นภัยคุกคามลำดับต้นของสหรัฐฯ