นพ.ยง ยืนยันไทยเลือกวัคซีนโควิดโดยใช้ทางสายกลางและดีที่สุดสำหรับประชาชน

20 มกราคม 2564, 16:33น.


           นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาใช้ในประเทศไทย  โดยระบุว่า ขณะนี้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ถือเป็นวัคซีนใหม่ที่ยังไม่เคยมีการใช้งานมาก่อน และตลาดเป็นของผู้ขายหรือผู้พัฒนาวัคซีน ดังนั้น ไม่ว่าผู้ซื้อจะมีเงินเท่าไหร่ ก็ไม่อาจซื้อวัคซีนได้ครบจำนวนตามที่ต้องการ และการจัดหาวัคซีนสำหรับประชากรโลกทั้งหมด ไม่มีทางเป็นไปได้  


          ส่วนประเด็นที่ประชาชนสนใจ คือ การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของวัคซีนต่างๆ ที่มีในตลาดหลายบริษัท โดยเฉพาะวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา กับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค อันไหนจะมีประสิทธิภาพ หรือดีกว่ากัน  นพ.ยง อธิบายว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ปัจจุบันมีการผลิตออกมาหลายวิธี หลายเทคโนโลยี เช่น 


1. วัคซีนที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีแบบ mRNA เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค รวมทั้งของบริษัทโมเดอร์นา  ซึ่งเป็นวัคซีนใหม่ ใช้การผลิตแบบไฮเทคโนโลยี ซึ่งไม่เคยมีการใช้วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ในมนุษย์มาก่อนเลย 


2.วัคซีนที่ผลิตแบบไวรัลเวกเตอร์ เช่น วัคซีนของแอสตราเซเนกา , สปุตนิค 5 ของรัสเซีย วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ เคยมีการผลิตและใช้ในมนุษย์มาก่อน นั่นคือ ไวรัสอีโบลา ซึ่งวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้  จะใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วและไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ลงไป เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือเรียกว่า ไวรัสถูกทำหมันแล้ว ดังนั้นจึงต้องฉีดอย่างน้อย 2 เข็ม  ส่วนวัคซีนของบริษัทจอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ที่ระบุว่า ใช้ไวรัสที่ไม่ถูกทำหมัน ฉีดแค่ครั้งเดียวนั้น ถือว่าเป็นของใหม่ที่ต้องผ่านการทดลองที่ถี่ถ้วนก่อน 


3.วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคที่ตายแล้ว (killed vaccine) เช่น วัคซีนของบริษัทซิโนแวค  วัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีนี้ ถูกใช้ในมนุษย์มานานกว่า 70 ปีแล้ว ที่คุ้นเคยกันดี เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  ข้อดีของวัคซีนประเภทนี้ คือ เป็นวัคซีนรุ่นเก๋า ที่มนุษย์คุ้นเคย ปลอดภัยแน่นอน และการศึกษาผลข้างเคียงก็ง่ายกว่า แต่มีข้อเสียคือ เนื่องจากการผลิตจะต้องเพาะเชื้อไวรัสจำนวนมาก นับล้านๆเท่า ดังนั้นจึงต้องใช้ห้องเพาะเชื้อที่เป็นห้องชีวนิรภัยระดับสูง ป้องกันเชื้อโรคหลุดรอดออกมา ผู้ที่ทำงานในห้องนั้นต้องสวมชุดอวกาศป้องกันเชื้อไวรัส เมื่อเพาะเชื้อได้มากตามที่ต้องการแล้วจึงทำให้มันตาย ก่อนจะผลิตวัคซีน  ซึ่งจะมีข้อจำกัดคือ หากจะผลิตจำนวนมาก จะไม่สามารถลดราคาต้นทุนได้ 


          ดังนั้น การที่ประเทศไทยเลือกใช้วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ผลิตง่าย ผลิตในโรงงานได้ ไม่ต้องใช้เชื้อก่อโรค และในอนาคตจะราคาถูก และการเลือกวัคซีนจากซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ไม่สามารถสั่งซื้อทีละมากๆ ได้ ถือว่าเป็นการเดินสายกลาง และเลือกทางที่ดีที่สุดในการจัดหาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมาให้ประชาชน 


 




 


          ส่วนการเลือกฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มใดก่อนนั้น นพ.ยง อธิบายว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ทุกบริษัทพัฒนาออกมา ยังไม่มีผลการศึกษาเลยว่า จะลดการติดโรค ลดการเป็นพาหะโรคได้ หรือป้องกันการติดเชื้อได้ มีเพียงแค่ลดอาการของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตเท่านั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงจะเสียชีวิตมากที่สุดก่อน นั่นคือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มมีโรคประจำตัว ส่วนกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับโรค ก็จะต้องเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนเช่นกัน 


           ในขณะที่กลุ่มคนหนุ่มสาว หรือแรงงานนั้น เนื่องจาก ผลการศึกษาวัคซีนทุกตัวขณะนี้ ยังไม่มีการยืนยันว่า หากฉีดไปแล้ว จะป้องกันการติดโรคหรือรับประกันว่าจะไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะฉีดให้กลุ่มหนุ่มสาวหรือแรงงาน ยกเว้นว่าจะมีผลการศึกษาที่รับรองชัดเจน 


          ส่วนกลุ่มเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจาก การผลิตวัคซีนขณะนี้ ยังไม่เคยมีการทดลองใช้ในเด็กเลย ประกอบกับเมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 มักมีอาการน้อย หายเร็ว และโอกาสเสียชีวิตน้อยมาก จึงควรรอผลการศึกษาที่ชัดเจนก่อนว่า ใช้ในเด็กแล้วปลอดภัยหรือไม่ และต้องให้ในปริมาณเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม  เช่นเดียวกับ กลุ่มสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งตามหลักการแล้ว วัคซีนใหม่จะไม่มีการใช้ในสตรีตั้งครรภ์ แต่หากมีรายใดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก มีการวิเคราะห์แล้วว่าหากไม่ได้รับวัคซีนจะมีผลต่อสุขภาพอย่างมาก ค่อยนำมาพิจารณาเป็นรายกรณีไป 


 




 


          นพ.ยง ย้ำว่า ต้องยอมรับว่าวัคซีนเป็นตัวช่วยเสริมในการควบคุมป้องกันโรค แต่ขณะนี้เรามีวิธีป้องกันโรคที่ได้ผลที่ดี คือ การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์  ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ไทยสามารถควบคุมโรคได้ดี จนตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นในปีนี้ วัคซีนจะเป็นเพียงมาตรการเสริม จนกว่าจะมีข้อมูลการศึกษาผลกระทบต่างๆที่ชัดเจนมารับรองว่ามีประสิทธิภาพจริง จึงขอให้ทุกคนช่วยกันมีระเบียบวินัยในการดูแลตัวเอง และเว้นระยะห่าง พร้อมยืนยันว่า ทีมสาธารณสุข จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนและวิธีป้องกันโรคต่างๆ
ข่าวทั้งหมด

X