โควิด-19 ระลอกใหม่ ฉุดความเชื่อมั่นเดือน ธ.ค.63 และอีก 3เดือนข้างหน้า ส.อ.ท.เสนอ 5 มาตรการช่วย SMEs

20 มกราคม 2564, 15:22น.


          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.63 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.4 เมื่อเดือนพ.ย.63 ค่าดัชนีปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงในทุกองค์ประกอบ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต, ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ



         สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง เกิดจากโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ที่ขยายวงกว้างไปในหลายจังหวัด ส่งผลให้ภาครัฐ ออกคำสั่งปิดสถานที่บางแห่ง และกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการระบาดสูง รวมทั้งงดจัดกิจกรรมปีใหม่และขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งขอให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและข้าราชการทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19



         จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลง ทั้งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการลดลงโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)  นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าข้ามจังหวัดยังมีความล่าช้า เนื่องจาก มาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ การก่อสร้างโครงการภาครัฐและการลงทุนใน EEC ส่งผลดีต่อสินค้าวัสดุก่อสร้าง



         สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 92.7 จากระดับ 94.1 เมื่อเดือนพ.ย.63 เนื่องจาก ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการปรับแผนการดำเนินกิจการเพื่อรับมือสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มากขึ้น ผู้ประกอบการขอให้ภาครัฐเร่งควบคุมสถานการณ์โควิด-19 โดยเร็วและเร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม



ส.อ.ท.มีข้อเสนอเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการเสริมสภาพคล่อง SMEs 5 ข้อ ดังนี้



1) ขอไม่จำกัดวงเงินกู้ในการขอสินเชื่อ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการเป็นรายๆ ไป



2) ขอให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก



3) ขอให้ปรับการจัดลำดับการตัดชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยให้ตัดจากเงินต้นก่อน เพื่อเป็นการปรับลดจำนวนหนี้ให้ผู้ประกอบการ



4) ให้ธนาคารพาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำลงร้อยละ 1



5) ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเพิ่ม



          มาตรการช่วยเหลือประชาชน อาทิ เพิ่มวงเงินใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง เป็น 5,000 บาท พร้อมขยายระยะเวลาโครงการฯ และสนับสนุนให้มีโครงการคนละครึ่งเฟส 3 พร้อมขยายฐานจำนวนผู้ได้รับสิทธิ



          รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการช้อปดีมีคืนในปี 2564 เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในกลุ่มที่ต้องเสียภาษี โดยคืนภาษีจากเดิมสูงสุด 30,000 บาท เป็น 50,000 บาท เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปี 2564



แฟ้มภาพ 



 

ข่าวทั้งหมด

X