ไทยนำเข้าวัคซีน 2 ตัว 'โมเดอร์นา -ซิโนแวกซ์' เตรียมฉีดซิโนแวกซ์เดือน ก.พ.

19 มกราคม 2564, 20:27น.


          ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ให้ข้อมูลวัคซีน โควิด-19 ที่จะนำเข้าไทยว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่มีการสั่งเข้ามาในหลายประเทศ ที่ทุกตัวผ่านระยะทดลองเฟส 1-3 การศึกษาใน คน  โดยไทยจะนำวัคซีน 2 ตัวเข้ามาใช้ ได้แก่  



1.วัคซีน Moderna ของสหรัฐอเมริกา ที่ใช้การผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่มีประสิทธิภาพคู่ขนานมา กับ วัคซีน Pfizer ถึงร้อยละ 94.5 เก็บรักษาได้ในอุณหภูมิ 20 องศา มีการอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศ ทั้งนี้หากฉีด 1  เข็มมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 80.2 ฉีดครบ 2 เข็ม หากฉีดครบ 2 เข็ม ประสิทธิภาพจะอยู่ที่ร้อยละ 94.5 และได้มีการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป วัคซีนก็ยังมีประสิทธิภาพสูง ร้อยละ 86.4 รายงานล่าสุด พบภาวะข้างเคียงเมื่อฉีดครบ 2 เข็มคือ ปวดศีรษะ ร้อยละ 63 อ่อนเพลีย ร้อยละ 68 ปวดข้อ ร้อยละ 45 หนาวสั่น 48 ซึ่งสูงกว่ารายงานของ วัคซีน Pfizer



2.วัคซีน SINOVAC ของประเทศจีน โดยบริษัท Sinovac Biotech โดยจะเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนตัวนี้ใช้กระบวนการผลิตโดยใช้เชื้อโคโรนาไวรัส ที่อ่อนแรงหรือตาย ซึ่งวัคซีนตัวนี้มีการศึกษามาเยอะทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ โดยมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 50.38 เก็บรักษาด้วยการแช่เย็น และต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 2 สัปดาห์ ข้อดีของวัคซีนตัวนี้คือ ใช้เทคโนโลยีที่เราคุ้นเคย และเข้าสู่กระบวนการผลิตได้เร็ว โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2563 รัฐบาลจีนอนุมัติให้ฉีดวัคซีนแก่บุคลากรที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีการกระจายไปใช้ในหลายประเทศในจำนวนมาก



          ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 เพียงร้อยละ 7 ที่ผ่านการศึกษาเฉพาะในสัตว์ทดลอง ประสบความสำเร็จเมื่อใช้ในคน ส่วนในระยะที่ศึกษาในคนจำนวนมาก ประสบความสำเร็จเพียงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ดังนั้น วัคซีนที่ศึกษาในคนแล้วประสบความสำเร็จในระยะที่ 3 อาจใช้ได้จริงเพียงร้อยละ 50 เพราะในกลไกการผลิตวัคซีน ร่างกายของคนก็ตอบสนองไม่เหมือนกัน

          ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนใดก็ตามหากผ่านการศึกษาครบทุกระยะเรียบร้อย เมื่อมาฉีดในประชากรจำนวนมาก สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนั้นคือ



1.ภาวะแทรกซ้อนที่ในระหว่างการศึกษาไม่ปรากฏ



2.สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่



          และการเลือกวัคซีน ปัจจัยสำคัญคือ ความปลอดภัย ที่จะต้องไม่เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนเราไม่จำเป็นต้องเลือกวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงใกล้ร้อยละ100 เพราะในทางปฏิบัติไม่มีวัคซีนใดได้ประสิทธิภาพเต็มร้อยละ100 แต่ต้องมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ50 เทียบกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพประมาณร้อยละ50-60 เมื่อฉีดแล้วอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่แต่ไม่รุนแรง เป็นต้น และการจัดส่งวัคซีนอย่างทั่วถึงมีคุณภาพ เพราะวัคซีนบางตัวมีการจัดเก็บยาก อาจจะมีองค์ประกอบทำให้วัคซีนเสื่อมประสิทธิภาพ



 

ข่าวทั้งหมด

X