คณะกรรมการอิสระเพื่อการเตรียมพร้อมและตอบสนองต่อโรคระบาด(Independent Panel for Pandemic Preparedness and Response)ขององค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งมีอดีตนายกรัฐมนตรีเฮเลน คลาร์กของนิวซีแลนด์ และอดีตประธานาธิบดีเอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟของไลบีเรีย เป็นประธานร่วมเปิดเผยรายงานเบื้องต้นว่า ประเทศจีนและWHO ดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เร็วกว่าและเข้มข้นมากกว่าที่ประเทศจีนและ WHO ดำเนินการมา หลังพบการแพร่ระบาดครั้งแรกในเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของประเทศจีนปลายปี 2562
โดยในส่วนของจีน ที่ประชุมมองว่า หน่วยงานสาธารณสุขทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติของจีนล่าช้า ในการควบคุมโรคในระยะแรกๆ จนกระทั่งเดือนมกราคม 2563 ทางการจีนจึงดำเนินมาตรการต่างๆอย่างเข้มข้นมากขึ้นเช่นการประกาศล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 23 มกราคม-7 เมษายนปีก่อน และแม้ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนรายงานผู้ป่วยโควิด-19 รายแรกๆระหว่างวันที่ 12-29 ธันวาคม 2562 แต่ทางการจีนไม่ได้แจ้งให้ WHO ทราบทันที เพิ่งแจ้งให้ WHO ทราบในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการฯเห็นว่าในช่วงที่จีนประกาศประกาศล็อกดาวน์เมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 นั้น เชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดจากประเทศจีนไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ประเทศไทยและสหรัฐฯ
ด้าน WHO คณะกรรมการฯได้วิจารณ์ว่า ล่าช้าในการแจ้งเตือนทั่วโลกให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาด พร้อมเสนอให้มีการปฏิรูปองค์กร WHO แม้ว่าจะถูกแจ้งให้ทราบมาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2562 แต่ WHO ไม่ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินของ WHO ให้พิจารณาเรื่องนี้ รอจนกระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2563 จึงเรียกประชุม จากนั้นรอกระทั่งวันที่ 30 มกราคม 2563 WHO จึงประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินระดับนานาชาติ ( public health emergency of international concern)
คณะทำงาน ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไม WHO จึงรอจนกระทั่งสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคมปีที่แล้ว ถึงนัดประชุมคณะกรรมการฉุกเฉิน และทำไม WHO จึงไม่ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่นานาชาติควรให้ความสำคัญตั้งแต่ครั้งแรกที่เรียกประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินในวันที่ 22 มกราคม 2563 และยังรอจนกระทั่งวันที่ 11 มีนาคม 2563 WHO จึงประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคระบาด (pandemic)ทั่วโลก เพราะเมื่อถึงเวลานั้น ยอดผู้ป่วยสะสมสูงถึง 118,000 คนทั่วโลก เสียชีวิตกว่า 4,000 ราย
Cr: CNN