ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2564

18 มกราคม 2564, 19:19น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2564  



อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยข่าวดี อาจอนุญาตใช้วัคซีนโควิดกรณีฉุกเฉินสัปดาห์หน้า



          การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้มีบริษัทวัคซีน 1 บริษัท ที่ยื่นเอกสารรายละเอียดของวัคซีนให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เพื่อตรวจสอบเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย เบื้องต้นมีข่าวดีว่า น่าจะได้รับอนุญาตให้นำวัคซีนมาใช้ในกรณีฉุกเฉินในประเทศไทย ภายในไม่เกินสัปดาห์นี้ 

          ส่วนกระบวนการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข หลังจาก อย.ได้ตรวจสอบเอกสารรายละเอียดของวัคซีนแต่ละตัว เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด  คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะเป็นไปตามแผน คือ สามารถจัดหาวัคซีนให้ประชาชนฉีดได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

           สำหรับข่าวการทดลองฉีดวัคซีนในต่างประเทศ แล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ฉีด จนทำให้ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจว่าวัคซีนจะปลอดภัยหรือไม่ นพ.โอภาส ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข มีระบบติดตามอาการหลังฉีดให้ประชาชน อย่างน้อย 4 สัปดาห์ ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว มีอาการผิดปกติหรือแพ้ยาหรือไม่ ถ้าพบว่ามีผู้ที่แพ้ยาหรือมีอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต  คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามดูแลการฉีดวัคซีน จะรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วย เช่น ประวัติอาการ ประวัติการรักษา หรือผลการชันสูตรศพในรายที่เสียชีวิต มาวิเคราะห์ ประมวลผลและพิสูจน์ว่า สาเหตุที่เกิดเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ถ้าไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ก็จะอนุญาตให้ฉีดวัคซีนต่อไปได้ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจหรือเกี่ยวข้องกับวัคซีนก็จะให้หยุดการฉีดไปก่อน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการเดียวกันกับการตรวจสอบวัคซีนสำหรับโรคอื่นๆก่อนหน้านี้ แต่วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันโรค แต่จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันส่วนบุคคลด้วย นั่นคือ การเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย รักษาสุขอนามัย ล้างมือ ซึ่งเป็นมาตรการที่ทั่วโลกยอมรับ 



เลขาธิการอย. ยืนยัน ไม่เคยพิจารณาให้ รพ.เอกชนขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวค ย้ำ คุณภาพ-ความปลอดภัย-ประสิทธิผลต้องมาก่อน



          กรณีข่าวโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาขอขึ้นทะเบียน วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน โดยอ้างว่า หากขอผ่านคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.ต้องใช้เวลา 3 เดือน ในการพิจารณาวัคซีน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (เลขาธิการ อย.) ชี้แจงว่า ขณะนี้มีการยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จริง แต่ผู้ยื่นขออนุญาตคือองค์การเภสัชกรรม และอย.ไม่เคยได้รับคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวจากโรงพยาบาลเอกชน ไม่เคยได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทหารือเรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนวัคซีน มีเพียงหนังสือที่โรงพยาบาลเอกชนรายนี้ยื่นต่อ อย. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 เพื่อขอให้ อย. ลงนามในเอกสารประกอบการจองวัคซีนของบริษัท โดยแจ้งว่า จะมีการขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้าต่อไป



          อย. จะพิจารณาโดยยึดหลักที่สำคัญว่า ต้องเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐาน และมีประสิทธิผล วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จะเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตาม เฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง โดยผู้รับอนุญาตนำเข้าต้องรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบต่อประชาชน



บุคลากรทางการแพทย์ศิริราชติดโควิด-19 



          การพบบุคลากรติดเชื้อโควิด-19 นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า  ขณะนี้รอผลแล็บสุดท้ายอยู่ ที่ผ่านมามีการนำผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง มาสวอปตรวจหาเชื้อทั้งหมด จึงอยากให้คลายกังวล  รพ.ศิริราช มีมาตรการตรวจอยู่แล้ว และอย่าตื่นตระหนก โดยวันพรุ่งนี้ (19 ม.ค.) จะมีการแถลงรายละเอียดอีกครั้ง  พร้อมย้ำว่า การติดเชื้อในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการติดเชื้อจากคนไข้ รพ.ศิริราช มีมาตรฐานในการดูแลคนไข้ และแยกออกจากกันอย่างชัดเจน



นักโทษไทยกลับจากมาเลเซียป่วยโควิด19 เพิ่มอีก2 คน



          สถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.สงขลา ในวันนี้พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 2 คน เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซียผ่านด่านพรมแดนสะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 13 มกราคม โดยเป็นเพศชาย อายุ 32 ปี กับ 38 ปี ซึ่งเป็นนักโทษ

          หลังจากที่เมื่อวานนี้ พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากประเทศมาเลเซียไปแล้ว 3 คนซึ่งเป็นชุดเดียวกัน จากจำนวนคนไทยที่เดินทางกลับมาพร้อมๆกันเมื่อวันที่ 13 มกราคม ซึ่งเป็นชุดสุดท้ายก่อนมาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉิน จำนวน 33 คน แม้ว่า จะพบคนไทยที่เดินทางกลับจากมาเลเซียป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นแต่ไม่น่าเป็นห่วงเพราะเดินทางเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย และทั้งหมดก็ถูกกักตัวและขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

          ขณะนี้จังหวัดสงขลามียอดผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 7 คน แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 2 คนและติดเชื้อจากต่างประเทศ 5 คน

          สำหรับ บรรยากาศที่ด่านพรมแดนไทยมาเลเซีย ขณะนี้ ได้มีการคุมเข้มพื้นที่เข้าออกด่านพรมแดนไทยมาเลเซีย ทั้งในส่วนของกลุ่มคนขับรถขนส่งสินค้าที่เข้าออกทั้งสองประเทศ และพื้นที่ตามรั้วชายแดนไทยมาเลเซียที่เป็นช่องทางธรรมชาติเพื่อป้องกันการลักลอบเข้ามาของแรงงานต่างด้าวรวมถึงคนไทยที่อาจจะลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย



ชลบุรี ยังพบติดเชื้อจากสถานบันเทิง



         สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดชลบุรี นพ.วิชัย ธนาโสภณ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 2 คน จาก อ.สัตหีบ 1 คน มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อที่ไปโรงเบียร์ป๋าแดง และ อ.ศรีราชาอีก 1 คน ให้ประวัติไปโรงเบียร์ 90 ศรีราชา (รอสอบสวน ปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนต่อไป) แม้ผู้ติดเชื้อเหลือน้อย ยังคงมีเล็ดลอดหลงเหลืออยู่ ขอให้ประชาชนอยู่ในความไม่ประมาท คงมาตรการเข้มข้น เราจะเร่งค้นหาเชิงรุกให้มากขึ้นเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อมารักษา กักกัน ไว้ไม่ให้แพร่เชื้อต่อไป



          สำหรับรายงานสถานการณ์เบื้องต้นยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จ.ชลบุรี ณ วันที่ 18 ม.ค. 63 ยอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 647 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.ศรีราชา จำนวน 306 คน,อ.บางละมุง 238 คน,อ.เมืองชลบุรี 38 คน,อ.สัตหีบ 23 คน,อ.บ้านบึง 13 คน และ อ.พนัสนิคม 8 คน และคนที่อาศัยอยู่ใน จ.ระยอง ที่มารักษาที่ จ.ชลบุรี 20 คน รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 647 คน



          ส่วนปัจจัยที่ทำให้มีผู้ติดเชื้ออันดับต้น ๆ คือ ลักลอบเล่นการพนัน แคมป์แรงงานต่างด้าว บุคคลที่มีประวัติสัมผัสกับคนไปบ่อนการพนัน โรงเบียร์  และผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับคนที่ไปโรงเบียร์



รมว.ศธ.เตรียมเสนอ ศบค. เปิดเรียนในระดับอนุบาล-ประถม ก่อน



          นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เปิดเรียนเฉพาะเด็กระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาก่อนและอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับศธ.ในการตัดสินใจด้วย ในเบื้องต้น ยืนยันที่จะเปิดเรียนตามกำหนดเดิมคือวันที่ 1 ก.พ. 64 และต้องประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านก่อน เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของนักเรียน



         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง การจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่มีการปิดสถานศึกษาในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ว่า การจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะนักเรียนก็มีทั้งความพร้อมและไม่พร้อมด้านอุปกรณ์ในการเรียน อีกทั้งการเรียนออนไลน์อาจส่งผลให้เด็กมีเวลาว่างมากจนเกินไป มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่าจะมีวิธีการจัดสอบปลายภาคเรียนได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการที่ตนได้เซ็นประกาศยกเลิกการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ระดับป.6 และม.3 เนื่องจาก การเรียนของเด็กในห้องเรียนไม่เต็มที่อย่างแน่นอนจึงไม่สามารถวัดผลได้



         ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในประเทศได้ดีพอสมควร เพราะมีการติดเชื้อโควิด-19 วันละ 150-200 คน ส่วนใหญ่เป็นการแพร่ระบาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งสามารถสอบสวนโรคได้ จึงจำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน และไม่สะดวกในการเรียนออนไลน์ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้มากขึ้น และเมื่อสามารถเปิดเรียนในสถานศึกษาได้ตามปกติขอให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การสลับวันมาเรียน การติดตั้งเจลล้างมือ  



ดีอีเอส-ทีมพัฒนา'หมอชนะ' ยืนยันไม่ถอนตัว ประสานกรมควบคุมโรค ปรับแจ้งสีสถานะของแต่ละบุคคล



          ประเด็นที่สังคมมีคำถาม เรื่องแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยืนยันว่า ได้ทำงานพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ร่วมกันกับทีมอาสากว่า 100 ชีวิต ตลอดเวลาเกือบ 1 ปี และทุกวันนี้ยังหารือการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ยังทำงานมาด้วยดีมาโดยตลอด การส่งมอบการดูแลระบบแอปพลิเคชันนั้น เนื่องด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ได้ส่งมาทาง สพร. ที่เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้งาน 30-40 ล้านคน และยังพัฒนาต่อเนื่องเพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น ใช้กับประชาชนทั้งประเทศได้ เมื่อถึงวันนี้รัฐบาลรับช่วงต่อมา เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเก็บข้อมูลต้องใช้บุคลากรจำนวนมากและต้องทำให้เกิดคุณภาพ



          รมว.ดีอีเอส ระบุว่า ระบบการแจ้งเตือนสถานะสีของแอปพลิเคชัน ไม่มีปัญหา ไม่มีการล็อคสีไว้ให้เป็นสีเขียวอย่างเดียว ซึ่งกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลและยืนยันสีสถานะข้อมูลของผู้ใช้งานหน่วยงานเดียวเท่านั้น ยืนยันว่า ระบบไม่มีปัญหา แต่อาจจะต้องใช้เวลาให้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบอย่างถูกต้องชัดเจน และการส่งมอบแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" จะไม่ทำให้เกิดปัญหา แต่เนื่องจากการใช้งานมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เปิดให้ประชาชนใช้งานทั่วประเทศจำนวนผู้ใช้จึงมากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลควรมีงบประมาณในการดูแลทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชันในการทำงาน ในการเพิ่มบุคลากรในการรองรับให้มากขึ้น ซึ่งทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเอง ก็ยังคงคอยเป็นที่ปรึกษาและช่วยการทำงานของรัฐบาลต่อไป ทุกอย่างจะยังทำงานเหมือนเดิมและระบบจะดีขึ้นกว่าเดิม



          ด้าน ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล และนายสมโภช อาหุนัย ทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ขอบคุณประชาชนที่แสดงความห่วงใยทีมงานผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และขอบคุณที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการโหลดและใช้งานในการต่อสู้ในสงครามโควิด-19 เมื่อถึงระดับการใช้งานที่ขยายมากขึ้น จึงส่งต่อให้รัฐบาลดูแลและใช้งานอย่างเป็นทางการ และสิ่งสำคัญคือต้องมีกระบวนการการสื่อสารที่ชัดเจนและมาในทิศทางเดียวกัน ไม่ทำให้เกิดความสับสน พร้อมกันนี้ขอให้คนไทยร่วมมือกันใช้แอปพลิเคชันหมอชนะนี้ ในการช่วยต่อสู้กับโควิด-19 อย่างจริงจังให้เราชนะให้ได้



          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยังพูดถึงแอปพลิเคชันหมอชนะ ที่ระบุว่า จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อรายที่ผ่านๆมา จะพบว่า ต้องใช้เวลานานและค่อนข้างลำบาก เพราะต้องซักประวัติอย่างละเอียด แต่ถ้าผู้ติดเชื้อใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยขั้นตอนการทำงานของทีมสาธารณสุข คือ เมื่อพบผู้ติดเชื้อ ก็จะขอตรวจดูแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อถ่ายภาพคิวอาร์โค้ด แล้วส่งข้อมูลไปยังผู้ประสานงานและผู้ดูแลระบบ เพื่อส่งให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ในการอัพเดทฐานข้อมูลผู้ป่วยและส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ที่อาจจะสัมผัสโรค  จึงวอนขอให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชันดังกล่าว เพื่อช่วยทีมสาธารณสุขในการทำงาน  ซึ่งขณะนี้ทีมงานกำลังเร่งปรับปรุงระบบ เช่น การแก้ปัญหาแอปฯใช้พลังงานและทรัพยากรในโทรศัพท์มาก รวมทั้งการจัดทำระดับการแจ้งเตือนให้เป็นสีเหลือง ส้ม แดง ตามความเสี่ยงของผู้ใช้งาน 



ปิดภูกระดึงต่อถึง 31 ม.ค. 64



          กรมอุทยานแห่งชาติภูกระดึง ออกประกาศเรื่อง ปิดแหล่งท่องเที่ยวและการพักแรมในอุทยานแห่งชาติภูกระดึงทุกแห่งเป็นการชั่วคราว เพื่อปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญว่า 



          ‘เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการแถลงการณ์ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จึงขอปิดแหล่งท่องเที่ยวและการพักแรมในอุทยานแห่งชาติภูกระดึงทุกแหล่ง ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม - 31 มกราคม 2564



ก.คลังเสนอ ครม.พรุ่งนี้เยียวยา ‘เราชนะ’ 3,500 บาททั้งประเทศ



          กระทรวงการคลังแจ้งว่า ในวันที่ 19 ม.ค. 2564 เวลา 14.30 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะแถลงข่าวมาตรการ’เราชนะ’แจกเงินเยียวยา 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน หลังจากที่ในช่วงเช้าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเห็นชอบมาตรการดังกล่าว

          ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ ครม. เห็นชอบมาตรการแจกเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน ในเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2564 ให้กับทั้งประเทศทุกจังหวัด โดยใช้เงินกู้เพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะครอบคลุมคนที่ได้รับเงินเยียวยาประมาณ 30 ล้านคน

          สำหรับในรายละเอียด กระทรวงการคลังเสนอให้แจกเงินกลุ่มที่ 1 กับผู้ถือสวัสดิการของรัฐ หรือ บัตรผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านคน โดยให้เพิ่มเติมจากเดือนละ 200 บาท 300 บาท ให้เป็น 3,500 บาท โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียน

          ขณะที่กลุ่มที่ 2 ให้แจกเงินกับผู้ที่อยู่ในโครงการคนละครึ่ง 15 ล้านคน และโครงการเที่ยวด้วยกัน 1.5 ล้านคน รวมกันประมาณ 16.5 ล้านคน โดยคลังจะเป็นผู้คัดกรองว่า ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และต้องมีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกินกี่แสนบาท ซึ่งจะให้ ครม. เห็นชอบตัดสินใจว่าควรมีเงินฝากไม่เกินเท่าไร ซึ่งหากผ่านคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อ คลังจะส่งข้อความไปให้ผู้ผ่านการพิจารณากดยอมรับสิทธิได้รับเงิน 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน โดยที่ไม่ต้องมาลงทะเบียนเช่นกัน

          สำหรับผู้ที่ตกหล่นจาก 2 กลุ่มแรก กระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านระบบเว็บไซต์ที่จะเปิดตัวเป็นทางการในวันที่แถลงข่าว ซึ่งคาดว่าจะเหลือผู้ตกหล่นมาลงทะเบียนจำนวนไม่มาก



          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินที่ได้ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ครม. จะพิจารณาว่าจะให้กดเป็นเงินสดออกมาใช้ได้ทันที หรือ เป็นเงินที่อยู่ในระบบเป๋าตังค์เพื่อไปซื้อสินค้าในร้านค้าต่างๆ โดยที่ไม่สามารถกดเป็นเงินสดได้



หุ้นไทยปิดปรับฐาน ลด 9 จุด



          ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศปิดวันนี้ที่ระดับ 1,510.13 จุด ลดลง 9.00 จุด มูลค่าการซื้อขาย 74,438.29 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยวันนี้แกว่งพักฐาน จาก Sentiment ต่างประเทศที่ไม่ดี หลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นเป็นแรงหนุนให้เงินไหลออกจากเอเชีย คาดว่าจะรับผลจากที่นางเจเน็ต เยเลน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และเตรียมรับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังคนใหม่ ออกมาระบุว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งต่างจากสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯที่ต้องการให้ดอลลาร์อ่อนค่า  



          ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดร่วงลงในวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากนิกเกอิพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปิดที่ 28,242.21 จุด ลดลง 276.97 จุด



          ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดวันนี้ปรับตัวขึ้น หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน ขยายตัวร้อยละ2.3 ในปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ปิดวันนี้ที่ 28,862.77 จุด เพิ่มขึ้น 288.91 จุด



มติ'กก.สมานฉันท์'เคาะ'เทอดพงษ์ ไชยนันทน์'นั่งประธาน



          การประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ นัดแรก มติเอกฉันท์ เลือก นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์เป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ส่วนตำแหน่งอื่นๆ จะต้องรอให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน ให้ครบก่อนถึงจะมีการเลือกตำแหน่งอื่นๆทั้งนี้ ในเบื้องต้นคณะกรรมการฯ จะประชุมทุกวันจันทร์ เวลา 13.30 น.เป็นต้นไป สำหรับกรรมการ 11 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กระทรวงกลาโหม 2.นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 3.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภูมิใจไทย 4.นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ 5.นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ส.ว. 6.นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. 7.นายนิรุต ถึงนาค อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม 8.นพ.วันชัย วัฒน์ศัพท์ 9.นายสุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10.นายสมศักดิ์ รุ่งเรือง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก และ 11.นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน



 ‘ทรัมป์'เตรียมออกคำสั่งอภัยโทษและลดโทษ ราว 100 ฉบับ รวมตัวเองหรือเปล่าต้องรอ



          สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมออกคำสั่งอภัยโทษและลดโทษ ราว 100 ฉบับ ในวันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ผู้ที่จะได้รับอภัยโทษหรือลดโทษตามคำสั่งของนายทรัมป์ ส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ แร็ปเปอร์ชื่อดัง และคนอื่นๆ อีกหลายคน แต่ยังไม่แน่ชัดว่า คำสั่งอภัยโทษรวมถึงตัวนายทรัมป์เองด้วยหรือไม่

          โดยมีรายงานว่า นายทรัมป์พร้อมจะลงนามในคำสั่งอภัยโทษและลดโทษผู้กระทำผิดมาแล้ว 2 ชุดใหญ่ คือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ถูกกดดันให้ต้องระงับการออกคำสั่งเหล่านี้ จากกรณีเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม คาดว่า คำสั่งอภัยโทษและลดโทษราว 100 ฉบับนี้จะเป็นฉบับเดียว นอกเสียจากว่านายทรัมป์ตัดสินใจในวินาทีสุดท้าย ที่จะอภัยโทษให้พันธมิตร คนสนิท บุคคลในครอบครัว หรือตัวเขาเอง



          การอภัยโทษเป็นหนึ่งในภารกิจสุดท้ายของนายทรัมป์ในช่วงเวลาสุดท้ายของเขาในฐานะประธานาธิบดี ทำเนียบขาวเองก็กำลังทำงานหนัก เพราะมีคำสั่งพิเศษอีกหลายฉบับที่ต้องดำเนินการ นอกจากนี้ นายทรัมป์ยังหวังว่าจะปลดชั้นความลับถึงข้อมูลเกี่ยวกับการสืบสวนกรณีความเกี่ยวข้องของเขากับรัฐบาลรัสเซีย ก่อนที่จะอำลาตำแหน่ง ซึ่งซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เหลือน้อยในทำเนียบขาว ภารกิจต่างๆ เหล่านี้ อาจเสร็จไม่ทันวันสุดท้ายในตำแหน่งของนายทรัมป์

ข่าวทั้งหมด

X