กรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศเพื่อปรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายอยู่ที่ 104 บาท นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า กรมฯ จะมีหนังสือถึง กทม. เพื่อขอให้ระงับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากเป็นการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่สร้างภาระค่าเดินทางให้แก่ประชาชนที่ดำเนินการและไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เนื่องจาก กทม. เคยมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อยืนยันความพร้อมในการรับโอนทรัพย์สิน หนี้สินของโครงการฯ ก่อนที่ ครม. จะมีมติให้โอนทรัพย์สิน หนี้สินระหว่าง กทม. และกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561
กรมฯ เห็นสมควรให้ กทม. พิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม เพื่อให้ไม่เป็นภาระแก่ประชาชน และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติ ครม. ที่กำหนดให้มีการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ประชาชน รวมถึงเจตนารมณ์ของ กระทรวงคมนาคม ที่มอบทรัพย์สินในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ให้กับ กทม.
ทั้งจะมีการหารือกับกระทรวงมหาดไทย และ กทม. เพื่อหาทางออกร่วมกันต่อไป โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ โดย กรมฯ มีความเห็นว่า กระทรวงมหาดไทยและกทม. ควรส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคมตามที่ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปแล้วกว่า 1 เดือน
โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณา หาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน โดยมีแนวทางในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาอัตราค่าโดยสารในช่วงก่อนสัมปทานส่วนหลักสิ้นสุดลงในปี 2572 เช่น จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพยุงอัตราค่าโดยสาร และนำรายได้ในอนาคตมาชำระคืนกองทุนภายหลัง เป็นต้น
ที่ผ่านมา กรมฯ มีข้อเสนอแนะในการขยายสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กรณีอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไว้อย่างชัดเจนว่า การคิดอัตราค่าโดยสารต้องคำนึงถึงความเหมาะสม โดยสามารถกำหนดราคาได้ถูกกว่า 65 บาทตลอดสาย และควรกำหนดอัตราค่าโดยสารในระดับราคาที่ถูกที่สุด เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาใช้บริการ ซึ่งจะทำให้การจราจรใน กทม. เบาบางลง เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะอยู่ในอัตราร้อยละ 35 หากกำหนดราคาลงมาที่ 65 บาทตลอดสายจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น
....