หมอยง รับขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนตัวใด ป้องกันโควิด-19ได้ หลังพบอาการแพ้เพิ่มขึ้น

15 มกราคม 2564, 17:56น.


          หลังการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ศ.นพ.ยง วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาสถานการณ์โควิด-19 กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่มีการพัฒนาอยู่ขณะนี้ ยังไม่มีตัวไหนตอบคำถามได้อย่างชัดเจนในเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน แต่มีจุดมุ่งหมายในการลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงมุ่งให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยงมากกว่าเพื่อไม่ให้เกิดอาการรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อเข้าไป และติดตามอาการไม่พึงประสงค์ และผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด จากที่ติดตามข้อมูลผลข้างเคียงส่วนใหญ่คือเจ็บบริเวณที่ฉีด เป็นไข้ แต่ผลข้างเคียงรุนแรงขณะนี้ที่มีการฉีดยาเยอะๆ เช่น ที่แคนาดา ฉีดหลักล้านโดส ก็เริ่มรู้แล้วว่า อาจจะเกิดการแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา เช่นไฟเซอร์หรืออะไรต่างๆ ที่ออกมาตอนแรกว่า มีโอกาสแพ้ยาขั้นรุนแรงอาจจะเกิด 9 ในล้านหรือ 10 ในล้านคน ดังนั้น การฉีดจึงต้องสังเกตอาการใน รพ. หรือกรณีของโมเดอร์นา พบการปากเบี้ยวในอังกฤษ แอสตราเซเนกา เกิดไขสันหลังอักเสบ แต่ก็พบในกลุ่มที่ได้ยาหลอกด้วย จึงต้องมีการวิเคราะห์ว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากวัคซีนจริงหรือไม่



         ด้าน ศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.กลุ่มเสี่ยงเป็น คือ คนหนุ่มสาวไม่มีโรคประจำตัว ไม่ต้องฉีด 2.กลุ่มเสี่ยงตาย คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เสี่ยงอาการรุนแรงหากเกิดการติดเชื้อ ซึ่งการดูแลคนที่อาการรุนแรงนั้น โดยเฉพาะที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลดูแล เช่น บุคลากรมากกว่า 20 คน ต่อวัน และมีค่าใช้จ่ายสูงหลักล้านบาท ดังนั้น กลุ่มนี้จึงควรได้รับวัคซีน อย่างไรก็ตาม จะมีคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญติดตามผลหลังการให้วัคซีนอย่างใกล้ชิด และสืบสวนอย่างเร่งด่วนหากพบว่าเกิดผลกระทบอะไรขึ้น ซึ่งในการฉีดวัคซีนจำนวนมากเป็นสิบล้านคนนั้นถึงไม่มีผลข้างเคียงอะไรมาก แต่เชื่อว่าจะมีการเกิดเรื่องขึ้นแน่นอน



          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการเตรียมความพร้อมการฉีดวัคซีน ในประเทศไทยตามที่กรมควบคุมโรคได้นำเสนอ และเห็นชอบร่างคำสั่งตั้ง 6 คณะทำงาน ดังนี้  



1. คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน  



2. คณะทำงานด้านเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์  



3. คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรมและกำกับติดตามผล  



4. คณะกรรมการด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการรับวัคซีน 



5.คณะกรรมการด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 และ  



6. คณะทำงานด้านวิชาการ โดยทั้งหมดจะต้องรีบดำเนินการหารือเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนทันตามกำหนดเดิมคือ ระยะแรกในเดือน ก.พ., มี.ค.และ เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการป้องกันโรคแต่เครื่องมือที่สำคัญที่ต้องทำคู่กันคือใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง ซึ่งสำคัญ  



          สำหรับ การฉีดวัคซีนจะต้องมี 2 ส่วนคือ  



1. ลงทะเบียนตามบัญชีผู้มีสิทธิ และ  



2. การสำรวจผู้ตกหล่น   ซึ่งต้องเป็นไปตามความสมัครใจหากไม่ตรงตามเป้าก็มีกรรมการพิจารณาอยู่แล้ว เบื้องต้นการให้วัคซีนจะมีข้อกำหนดตามกลุ่มเป้าหมาย ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และคนท้องที่จะไม่ได้รับเพราะไม่ได้มีการทดลองวัคซีนในกลุ่มนี้



          นอกจากนี้หลังให้วัคซีนแล้วต้องมีการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ 4 สัปดาห์ หากพบอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง ก็จะมีการระงับการฉีดวัคซีนดังกล่าว หรือยกเลิกการฉีดวัคซีนในล็อตนั้นๆ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบก็จะมีระบบการชดเชยเยียวยาตามหลักเกณฑ์ ส่วนกรณีท้องถิ่นขอมีส่วนร่วมในการจัดซื้อวัคซีนไปฉีดประชาชนในพื้นที่นั้นไม่ได้อยู่ในการพิจารณาของคณะอนุฯ ชุดนี้ ทราบว่าทางนายกรัฐมนตรีมีการเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องอยู่

ข่าวทั้งหมด

X