นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวและจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยในจังหวัดที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ เช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สมุทรปราการ อ่างทอง ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่ติดจากบ่อนพนัน สนามไก่ชน และแรงงานต่างด้าว มีการค้นหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุก ติดตามตัวและกักตัวกลุ่มเสี่ยงได้เร็ว ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ ส่วนในจังหวัดสมุทรสาคร ยังทรงตัว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังเดินหน้าค้นหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุกจากกลุ่มแรงงานต่างด้าว แต่มองเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น
ขณะที่สถานการณ์ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ การระบาดรอบใหม่ในช่วงแรก พบการติดเชื้อจากผู้ที่มีประวัติไปจังหวัดสมุทรสาคร แต่ต่อมาพบมากในกลุ่มสถานบันเทิง ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหญ่และกระจายไปหลายเขต รวมทั้งยังมีการติดเชื้อในตลาด ในร้านอาหาร และในสถานที่ทำงานหรือออฟฟิส ซึ่งสถานการณ์ในกรุงเทพฯ สะท้อนว่า กำลังมีการติดเชื้อในชุมชนหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงต้องเตรียมมาตรการเชิงรุก ตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อในเชิงรุก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ทำงานตามตลาด ตามร้าน และจุดเสี่ยงอื่นๆ
ในขณะเดียวกันก็ต้องจับตาสถานการณ์การระบาดของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ล่าสุดเป็นหลักพัน และประเทศเมียนมา ที่ยังคงมียอดผู้ติดเชื้อสูง จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ส่วนประเด็นเรื่องของการจองซื้อวัคซีน ขณะนี้รัฐบาลได้จองซื้อไปแล้วและจะทยอยนำเข้ามา แต่การจะนำมาใช้จะต้องผ่านการตรวจสอบว่าปลอดภัยมีประสิทธิภาพและนำมาใช้ร่วมกับมาตรการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่ใช้อยู่เดิม เพื่อให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยไทม์ไลน์ของวัคซีนที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ายังเป็นไทม์ไลน์เดิม คือ วัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรก จะเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ดังนี้
1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
3. ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
4. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค
โดยในช่วงบ่ายวันนี้ คณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก็มีการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้า เตรียมความพร้อมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ด้านการบริหารจัดการวัคซีน การสร้างการรับรู้ การให้บริการวัคซีน การกำกับติดตามผลการดำเนินงานและการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19