ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เชิญตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ มาร่วมการหารือ ติดตามว่าจะมีมาตรการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพงหรือไม่
นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล จากนั้นจะต้อนรับนางฉั่ว ซิ่ว ซาน เอกอัครราชทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย ที่มาเข้าเยี่ยมคารวะ
ส่วน นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
วันนี้ยังมีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งในช่วงบ่าย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. จะหารือกับหน่วยงานที่ด้านการสร้างความปรองดอง เพื่อไม่ให้การดำเนินการเกิดความซ้ำซ้อน
ส่วนการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้จะเริ่มการพิจารณาเป็นรายมาตรา แต่จะเปิดให้เข้าฟังได้ในบางมาตรา โดยในการประชุมมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน จะเริ่มพิจารณาการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ตามที่ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประมวลความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาชิกสปช. และ สนช. พรรคการเมือง และภาคประชาชน ที่ได้เสนอความคิดเห็น เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ได้นำมากำหนดเป็นกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยแบ่งเป็น 246 ประเด็น แยกออกเป็น 272 เรื่อง และกมธ.ยกร่างได้มอบหมายให้คณะ อนุกมธ.ยกร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ที่มี นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เป็นประธาน ไปดำเนินการยกร่างเป็นรายมาตราเบื้องต้น แล้วจะส่งให้กมธ.ยกร่างเริ่มพิจารณาอย่างเป็นทางการในวันนี้
โดยในวันที่ 12-16 มกราคมนี้จะพิจารณารายละเอียดทั้งหมดในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหญ่ ในส่วนของบททั่วไป และภาค 1 ว่าด้วย พระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่า รัฐธรรมนูญใหม่น่าจะมีเนื้อหาอยู่ระหว่าง 250-300 มาตรา จะไม่มากไปกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่มี 309 มาตรา เพราะมีความเห็นตรงกันว่าจะต้องสั้น กระชับกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเดิม เพื่อไม่ให้เกิดการตีความ
ส่วนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานปล่อยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิก สนช. ในฐานะ กมธ. ซักถามฯ เปิดเผยว่า มี สนช.ส่งคำถามเข้ามาให้คณะ กมธ.แล้วมากกว่า 20 คำถาม จะหมดเขตส่งคำถามในวันที่ 13 มกราคม
ส่วนนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. ในฐานะคณะกรรมาธิการซักถามคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า จะหมดเวลาส่งข้อซักถามในวันนี้ ซึ่งคำถามที่ส่งมาก็เป็นคำถามที่สอบถามคู่กรณีทั้งสองฝ่าย
โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. มีคำสั่งนัดประชุมในวันที่ 15 และ 16 มกราคม มีวาระที่สำคัญคือ การดำเนินกระบวนการถอดถอน นายนิคมและนายสมศักดิ์ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2547 ประกอบมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ขณะที่การดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำหนดไว้ในประชุม สนช.วันที่ 16 มกราคม
และนายนรวิทย์ หล้าแหล่ง ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่าในวันนี้จะนัดประชุมทีมทนายเพื่อประเมินภาพรวมในการชี้แจงเมื่อวันที่ 9 มกราคม และเตรียมข้อมูล ข้อกฎหมายเพิ่มเติมในการชี้แจงวันที่ 16 มกราคมนี้
*-*