ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ปปช.และคดีทุจริตคอร์รัปชัน" โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับข้อเสนอมาตรการในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันในประเด็นต่างๆ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการฟ้องร้องคดีทุจริตคอร์รัปชัน ของ ป.ป.ช. ผ่านอัยการสูงสุด พบว่า ร้อยละ 41.60 ระบุว่า ป.ป.ช. ต้องฟ้องผ่านอัยการสูงสุด (อ.ส.ส.) จะทำให้คดีมีความหนักแน่น มีความน่าเชื่อถือ และมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
ร้อยละ 34.72 ระบุว่า ป.ป.ช. ควรมีอำนาจฟ้องตรงได้โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด เพราะสามารถลดขั้นตอน และทำให้พิจารณาคดีได้รวดเร็วขึ้น ป้องกันการแทรกแซงจากหน่วยงานอื่น
ขณะที่ ร้อยละ 13.92 ระบุว่า ป.ป.ช. ต้องฟ้องผ่านอัยการสูงสุดเว้นแต่เกินกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ ก็สามารถให้ ป.ป.ช.ฟ้องโดยตรงเองได้ เพราะเป็นการให้เกียรติแก่อัยการสูงสุด เป็นการทำตามขั้นตอนในเบื้องต้น
ส่วนความคิดเห็นต่อการกำหนดอายุความคดีทุจริตคอร์รัปชัน ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 มองว่าไม่ควรกำหนดอายุความสามารถลงโทษได้ตลอด ร้อยละ 25.76 ควรกำหนดอายุความที่แน่นอน เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงาน
สำหรับความเห็นต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการ พบว่า ร้อยละ 55.20 ระบุ ข้าราชการทุกระดับต้องยื่นแสดงทรัพย์สินเพื่อความโปร่งใส ร้อยละ 20.16 ควรยื่นเฉพาะข้าราชการระดับสูงขึ้นไป และร้อยละ 5.28 มองว่าไม่ควรยื่น เพราะเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล
ส่วนประเด็นการโอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปสังกัด ป.ป.ช. พบว่า ร้อยละ 55.84 เห็นด้วย เพราะเป็นการลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ร้อยละ 34.00 ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการจำกัดขอบเขตกฎหมายมากเกินไป อาจทำให้คดีความไม่โปร่งใส
...